
ขอบคุณภาพจาก
http://hilight.kapook.comงานฉลองพุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก onab.go.th
ในระยะหลัง เมื่อไปร่วมกิจกรรมสำคัญทางศานา หรือไม่ว่าจะไปทำบุญที่วัด ก็จะมักได้ยินคนพูดถึงคำว่า พุทธชยันตี กันมากขึ้น แม้กระทั่งตามสื่อต่าง ๆ ก็ยังมีข่าวว่า ในแต่ละจังหวัด ได้มีการจัดกิจกรรมการรณรงค์ เพื่อเฉลิมฉลองในวาระที่ครบรอบ พุทธชยันตี 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า แต่ยังมีหลายคนที่สงสัยว่า พุทธชยันตี คืออะไร มีหมายความว่าอย่างไร หรือมีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมคนพูดจึงพูดถึงคำนี้กันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อให้คลายความสงสัย ทางกระปุกดอทคอมจึงได้จึงรวบรวมข้อมูลมาฝากเพื่อน ๆ กัน
ก่อนอื่นมาดูควาหมายของคำว่า พุทธชยันตี กันก่อน พุทธชยันตี เป็นภาษาสันสกฤต โดย พุทธ หมายถึง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับคำว่า ชยันตี มาจากคำว่า ชย แปลว่า ชัยชนะ ซึ่งเมื่อนำคำทั้ง 2 คำ มารวมกันแล้ว พุทธชยันตี จึงหมายถึง การครบรอบวันเกิดของพระพุทธเจ้า หรือวันครบรอบชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่มีต่อหมู่มารและกิเลสทั้งปวง ซึ่งมักใช้เรียกการจัดกิจกรรมเพื่อการถวายเป็นพุทธบูชาในปีที่ครบรอบวาระสำคัญของพระพุทธเจ้า เช่น ครบรอบ 2500 ปี แห่งปรินิพพาน โดยในแต่ละประเทศอาจใช้คำเรียกที่ต่างกัน เช่น ศรีสัมพุทธชันตี สัมพุทธชยันตี
โดยในเบื้องต้น ได้มีการสันนิษฐานว่า การจัดกิจกรรมในวันสัมพุทธชยันตี เริ่มขึ้นครั้งแรกในประเทศศรีลังกา ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 โดย นายอู ถั่น ชาวพุทธพม่า ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ได้มีดำริให้ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันบูรณะลุมพินีวัน ที่ตั้งอยู่ในประเทศเนปาล ให้เป็นพุทธอุทยานประวัติศาสตร์ของโลก โดยเรียกว่า การฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษ โดยนำคำว่า พุทธชยันตี ซึ่งเป็นคำเรียกของชาวอินเดีย และเนปาลมาใช้ เพื่อให้เกียรติประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของพุทธสังเวชนียสถาน และมีการรณรงค์ให้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่าง ๆ จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในปีนั้น
ในส่วนของประเทศไทย สมัยของรัฐบาลของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีการจัดงานฉลองเนื่องในโอกาสพุทธชยันตีอย่างยิ่งใหญ่ ทั้งการจัดสร้างพุทธมณฑล การประกาศให้วันธรรมสวนะเป็นวันหยุดราชการ มีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พระราชบัญญัติล้างมลทิน และมีการออกประกาศพระบรมราชโองการ พระราชทานบริเวณสนามหลวงเป็นสังฆปริมณฑลสำหรับจัดงานฉลองในครั้งนี้เป็นการชั่วคราวด้วย
อีกทั้งรัฐบาลยังได้ออกพระราชบัญญัติเหรียญงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เป็นกรณีพิเศษ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประเทศไทยที่รัฐบาลมีการออกเหรียญที่ระลึก และแพรแถบ เนื่องในโอกาสสำคัญทางศาสนา โดยการจัดงานครั้งนั้นมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ทำให้คำว่า พุทธชยันตี ไม่แพร่หลายในประเทศไทยเท่าใดนัก
ต่อมา หลังรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ถูกรัฐประหารและยึดอำนาจ โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 การกำหนดวันธรรมสวนะให้เป็นวันหยุดราชการจึงได้ถูกยกเลิกไป ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2500 ซึ่งรัฐบาลในสมัยของนายพจน์ สารสิน ให้เหตุผลว่า การหยุดราชการในวันธรรมสวนะไม่สะดวกแก่การปฏิบัติราชการ