พระอารามหลวง
วัดทั้งหมดทั่วประเทศแบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และสำนักสงฆ์ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา คือวัดที่มีอุโบสถเป็นที่ทำสังฆกรรม คำว่า วิสุงคามสีมา ในที่นี้หมายถึงเขตที่ พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่สงฆ์เพื่อใช้เป็นที่สร้างโบสถ์ ส่วนสำนักสงฆ์ คือ วัดที่ยังไม่ได้รับพระราชทาน วิสุงคามสีมา จึงไม่มีอุโบสถ
ประเทศไทยเป็นประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา สถานที่ชุมนุมสำคัญ ของพุทธศาสนาสนิกชน หรือสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนาก็คือ วัด ในประเทศไทยมีวัดเป็นจำนวนมาก แบ่งออกเป็น พระอารามหลวง หรือ วัดหลวง วัดราษฎร์ และวัดร้าง
พระอารามหลวง คือวัดที่พระมหากษัตริย์ หรือพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างหรือทรงบูรณปฏิสังขรณ์ หรือมีผู้สร้างน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นวัดหลวง และวัดที่ราษฎรสร้าง หรือบูรณปฏิสังขรณ์ และขอพระราชทานให้ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง เช่น วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
วัดราษฎร์ ได้แก่วัดที่ประชาชนสร้าง หรือปฏิสังขรณ์ เช่น วัดประสาทบุญญาวาส
วัดร้าง คือวัดที่ทรุดโทรม ไม่มีพระสงฆ์พำนักอาศัยจำพรรษา ทางราชการจะขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งหากบูรณะได้อาจยกเป็นวัดมีพระสงฆ์ต่อไป เช่น วัดไชยวัฒนาราม (พระนครศรีอยุธยา)
[วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิด ราชวรวิหาร]
พระอารามหลวง ซึ่งหมายถึงวัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง หรือทรงรับไว้เป็นวัดของพระราชวงศ์ หรือเป็นวัดที่ทรงอุปถัมภ์นั้น แต่ละวัดอาจมีฐานะ หรือระดับชั้นแตกต่างกันออกไป การจัดลำดับชั้นของวัดหลวง เริ่มมีขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๕ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดระเบียบแบ่งชั้นพระอารามหลวงออกเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นเอก ชั้นโท และชั้นตรี แต่ละชั้นยังแยกระดับออกไปอีกหลายระดับ โดยมีสร้อยต่อท้ายชื่อวัดตามฐานะดังนี้
๑.พระอารามหลวง ชั้นเอก ได้แก่ วัดที่มีความสำคัญ มีเจดียสถานบรรจุพระบรมอัฐิ หรือเป็นวัดที่มีเกียรติสูง มี ๓ ระดับ คือ
๑) ราชวรมหาวิหาร
๒) ราชวรวิหาร
๓) วรมหาวิหาร
๒.พระอารามหลวง ชั้นโท ได้แก่วัดที่มีเจดียสถานสำคัญ หรือวัดที่มีเกียรติ มี ๔ ระดับ คือ
๑) ราชวรมหาวิหาร
๒) ราชวรวิหาร
๓) วรมหาวิหาร
๔) วรวิหาร
๓.พระอารามหลวง ชั้นตรี ได้แก่วัดที่มีเกียรติ วัดประจำหัวเมือง หรือวัดที่มีความสำคัญชั้นรอง มี ๓ ระดับ คือ
๑) ราชวรวิหาร
๒) วรวิหาร
๓) วัดที่ไม่มีสร้อยต่อท้าย (สามัญ)
การกำหนดแบ่งชนิดของพระอารามหลวงเริ่มมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๗ วัดหลวงที่มีฐานะสูงสุด คือ ชั้นเอกพิเศษ ชนิดราชวรมหาวิหาร มีทั้งหมด ๖ วัด อยู่ในกรุงเทพมหานคร ๔ วัด คือ

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์
วัดสุทัศนเทพวราราม วัดอรุณราชวราราม
ที่เหลืออีก ๒ วัดนั้นอยู่ต่างจังหวัด ได้แก่วัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
เชิญคลิกที่นี่ รายชื่อพระอารามหลวงทั่วประเทศ ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.dhammathai.org/watthai/royalwat.php
ขั้นตอนการขอยกวัดราษฎร์ ขึ้นเป็นพระอารามหลวง
การขอยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง มีขั้นตอนและวิธีดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการขอยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวงพ.ศ. 2518 ดังนี้
1. นายอำเภอรายงานขอยกวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง ตามแบบที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้กำหนด ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
2. ผู้ว่าราชการจังหวัดนำปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด เห็นสมควรแล้ว จะได้รายงานไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
3. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นสมควรแล้ว จะขอรับความเห็นชอบจากเจ้าคณะภาค และเจ้าคณะใหญ่ แล้วรายงานเพื่อพิจารณานำเสนอมหาเถรสมาคม
4. มหาเถรสมาคมเห็นสมควรแล้ว จะได้ขอพระราชทานยกวัดนั้นขึ้นเป็นพระอารามหลวง
5. เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แล้ว จะได้แจ้งความยกวัดนั้นขึ้นเป็นพระอารามหลวงในราชกิจจานุเบกษา
6. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติขึ้นทะเบียนพระอารามหลวงแล้ว จะได้แจ้งเจ้าคณะภาค และผู้ว่าราชการจังหวัดที่มา
http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=697:2009-07-12-17-46-46&catid=70:-qq&Itemid=307ขอบคุณภาพจาก
http://bangkok-guide.z-xxl.com/