เผยแพร่เมื่อ 29 มิ.ย. 2012 โดย matichontv2011
ลงเรือล่องคลอง ชมวัด ย้อนเวลาไขปริศนา "พระเจ้าตากฯ" สิ้นอย่างไร บ้าจริงหรือไม่ (ชมคลิป)
อีกครั้งที่มติชนอคาเดมี นำทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ไขปริศนาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์หัวข้อต่างๆ ที่ยังมีข้อถกเถียง มีความเป็นไปได้หลายข้อสรุปจากหลักฐานหลากหลายแหล่ง โดยเฉพาะ “ล่องคลองสองแผ่นดิน พระเจ้าตากฯ และรัชกาลที่ 3”
นำโดย 2 วิทยากรอย่าง “ปรามินทร์ เครือทอง” และ “ปรีดี พิศภูมิวิถี” นักประวัติศาสตร์ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยแง่มุมวิธีการมองอดีต บวกกับการสื่อสารอย่างมีอารมณ์ขัน พาไปไขปริศนายุคกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ จากฉากจริงของเรื่องราวการเมืองในยุคนั้น ที่นำพาไปสู่จุดเปลี่ยนแปลงแบ่งยุค แบ่งสมัยกระทั่งปัจจุบันนี้
ในการล่องเรือเริ่มต้นจากแม่น้ำเจ้าพระยาท่าพระปิ่นเกล้าผ่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ และโรงพยาบาลศิริราช ก่อนที่จะหยุดเรือลอยลำตรงทาง 3 แพร่ง ฟังคำบรรยายเหตุการณ์สำคัญกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ณ จุดที่มีการยิงปืนถล่มเข้าไปยัง ป้อมวิชัยประสิทธิ์ กับเรื่อง “คืนสุดท้าย แผ่นดินธนบุรี” ซึ่ง “ปรามินทร์” มองว่า การเมืองขณะนั้นดำเนินไปโดยแผนการที่ถูกวางเอาไว้ ไม่ใช่เพียงเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ด้วยความบังเอิญ เพราะมีการวางแผนจัดการกรุงธนบุรี และการ “ฆ่า” ก็เป็นกติกาทางการเมืองในสมัยนั้น
จากนั้นไม่นาน ก็ล่องเรือไปอีกไม่ไกล คณะทัวร์ขึ้นฝั่งยังท่าน้ำวัดหงส์ฯ แล้วเดินเข้าไปสักการะศาลพระเจ้าตากฯ ที่อยู่ใกล้วัด พร้อมฟังบรรยายเรื่อง “จักรีวงศ์ กับ พระเจ้าตากฯ” ผ่านตำนานวัดหงส์ ที่มีเกร็ดข้อมูลประวัติศาสตร์ ซึ่งเมื่อยืนฟัง ณ สถานที่จริงแล้วต้องขนลุก เพราะมีตำนานว่า หลังจากมีการประหารชีวิตพระเจ้าตากฯ บริเวณป้อมวิชัยประสิทธิ์ ก็มีหลวงจีนเดินนำขบวนพระศพผ่านวัดหงส์
โดยมีอีกคนหนึ่งถือพานรองพระโลหิต ขณะเดียวกันเขาหันกลับไปมองยังโบสถ์วัดหงส์ ก็เห็นพระเจ้าตากยืนกอดอก ไม่มีหัว ทำให้ตกใจจนทำพานรองพระโลหิตหล่นจากมือ จากนั้น จึงมีการนำดินที่มีพระโลหิตพระเจ้าตากมาปั้นรูปพระองค์แล้วตั้งศาลพระเจ้าตากฯ ณ ตำแหน่งดังกล่าว
ก่อนเดินทางออกจากจุดนี้ ก็ได้เข้านมัสการหลวงพ่อแสน ภายในพระอุโบสถ ที่มีเสาต้นใหญ่ ลวดลายสวยงาม พร้อมชมภาพพระบฎเรื่อง รัตนพิมพวงศ์ ตำนานพระแก้วมรกต ที่อยู่เหนือประตูและหน้าต่าง
คณะทัวร์ถึงเวลาเดินทางต่อด้วยเรืออีกครั้ง ถึงวัดอินทาราม เข้าสักการะศาลพระเจ้าตากฯ และฟังเรื่องเข้มข้น “พระเจ้าตากฯ เป็นบ้า จริงหรือไม่?” โดย ผู้บรรยายและลูกทัวร์ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันแบบไม่มีกั๊ก ทั้งเรื่องเล่าที่เขียนเผยแพร่ได้ และที่เขียนเผยแพร่ไม่ได้
แต่ก่อนที่จะถึงเวลาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น “ปรามินทร์” จะเล่าถึงหลักฐานที่บันทึกเหตุการณ์ซึ่งพระเจ้าตากฯ ถูกมองว่า “บ้า” และท้ายที่สุด กฎเกณฑ์ชนิดใด ที่ตัดสินว่าใครบ้าหรือไม่ ผู้รับฟัง ก็สามารถนำข้อมูลไปตรึกตรองต่อหลังจบการเดินทาง 
พระบรมรูปหล่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
ประดิษฐาน ณ วัดสมณโกฐ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
นอกจากนั้น ยังได้เดินชมบริเวณที่เชื่อว่า เป็นจุดซึ่งเคยฝังพระศพพระเจ้าตากฯ พร้อมตำนานความเชื่อ คือบริเวณแท่นศิลาจารึกที่อยู่หน้าพระอุโบสถ แท่นศิลาดังกล่าว ถูกวางในตำแหน่งนั้น ในสมัยกรุงธนบุรีหรือไม่ และยังเป็นปริศนาอยู่ว่าศิลาจารึกดังกล่าวเป็นอักษรสุโขทัย แล้วมาอยู่ที่วัดอินทารามได้อย่างไร
หลังจากจุใจกับบทสนทนาระหว่างวิทยากรและลูกทัวร์ในช่วงเช้าแล้วก็ถึงเวลาล่องเรือไปพักรับประทานอาหารกลางวันกับร้านดัง“ร้านหมี่กรอบจีนหลี” สมัยรัชกาลที่ 5 และสามารถสั่งหมี่กรอบติดไม้ติดมือกลับบ้านได้ ณ จุดนี้
เมื่ออิ่มอร่อยกับอาหารร้านเก่าแก่แล้ว ก็ได้เวลาอีกครั้งในการท่องคลองด่าน ผ่านวัดดัง และเรื่องราวเกี่ยวกับรัชกาลที่ 3 กับ “ปรีดี พิศภูมิวิถี” อาทิ วัดนางนอง นมัสการพระพุทธรูปทรงเครื่อง แบบจักรพรรดิที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ชมจิตรกรรมฝาผนัง พุทธประวัติตอนทรมานพระยามหาชมพู และภาพเล่าเรื่อง “สามก๊ก” ก่อนจะเดินต่อไปยัง วัดหนัง นมัสการรูปเหมือนหลวงปู่เอี่ยม อดีตเจ้าอาวาส
จากนั้น เข้าชมพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาวัดหนัง พิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพ เชื่อกันว่าบริเวณนี้เคยเป็นนิวาสสถานเดิมของกรมพระศรีสุลาไลย พระราชมารดาในรัชกาลที่ 3
กระทั่งช่วงเย็น ถึงยามน้ำขึ้นเกือบเต็มตลิ่ง คณะทัวร์ได้ล่องเรือขากลับ ชมวิถีชีวิต ชุมชนคลองด่านก่อนออกสู่เจ้าพระยา ทัวร์ล่องคลองสองแผ่นดิน ครั้งแรก จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จ ด้วยคำยืนยันความประทับใจจากลูกทัวร์
อาทิ พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารบก บอกว่า “ประทับใจสุดๆ เลย และดีใจที่มติชนอคาเดมี จัดเรื่องนี้ขึ้นมา ทำให้พวกเรามีโอกาสมารู้เรื่องศิลปและวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และบางทีก็เป็นตำนาน รู้สึกสนุก ดีมากและอยากให้จัดบ่อยๆ”
สำหรับความรู้จากการบรรยายของวิทยากร อดีตผู้บัญชาการทหารบกผู้นี้ บอกว่า “ชั้นหนึ่งครับ วิทยากรทั้ง 2 ท่าน ให้ความรู้และประโยชน์แก่ผม ทั้งที่เราก็รู้เรื่องประวัติศาสตร์มาพอสมควร การบรรยายมีอะไรหลายๆ อย่างให้รับทราบ เช่น วัดนี้เป็นวัดอะไร สำคัญอย่างไร ในรัชกาลที่ 3 เป็นต้น
ถ้าอยากรู้มากกว่านี้ ต้องให้วิทยากรมาเล่าให้ฟัง จุดที่ประทับใจเป็นพิเศษคือ ความริเริ่มไม่ว่าจะของมติชนหรือศิลปวัฒนธรรม ที่เริ่มเรื่องนี้ ทำให้พวกเราได้ใช้เวลาในวันหยุดได้อย่างมีค่ามากที่สุดครับ” พล.อ.มงคล กล่าว
เผยแพร่เมื่อ 29 มิ.ย. 2012 โดย matichontv2011
ด้าน พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ กรรมการมูลนิธิรักเมืองไทย ผู้ร่วมเดินทางครั้งนี้ บอกว่า ประทับใจ และรู้สึกมานานแล้วว่า เรื่องของประวัติศาสตร์และวิชาประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องที่สังคมไทย ไม่ค่อยได้ใส่ใจ ไม่ค่อยให้น้ำหนัก มาวันนี้แล้ว ก็รู้สึกว่ามีด้านดีในการละเลยประวัติศาสตร์ เพราะทำให้เหลือพื้นที่อีกมาก ในการที่เราจะค้นคว้าหาความเป็นจริง ขณะที่ประเทศตะวันตกอาจะเหลือพื้นที่น้อยลง เพราะว่าเขาทำความชัดเจนได้มากมาย แต่กระนั้น ก็ยังมีมุมมองที่มาถกแถลงกันมากมาย
"สำหรับบ้านเราการที่เราละเลยประวัติศาสตร์ ผมก็มองในแง่ดีว่า มันมีเรื่องที่จะให้พวกเราต้องทำกันอีกเยอะ ผมเองไม่ค่อยรู้ประวัติศาสตร์ของบ้านเรา มาวันนี้ยิ่งชัดเจนใหญ่ครับว่า ยิ่งรู้ว่าตัวเองไม่รู้มากขึ้น ผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ ที่จะหาคำตอบให้ได้ครับ ดีใจที่ได้มาทัวร์ศิลปวัฒนธรรมครับ” พล.อ.บัญชรกล่าว
ด้าน “จินตนา ธีรวรางกูร” ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารงานทั่วไป รักษาการหัวหน้าฝ่ายอำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ กล่าวถึงการเดินทางทริปนี้ว่า นอกจากจะได้ความรู้ ข้อมูลเพิ่มเติม ก็ยังได้ทราบเกร็ดความรู้ต่างๆ ที่ไม่เคยรู้มาก่อน และครั้งนี้ก็ได้ความรู้หลายแง่มุมของวิทยากร
ซึ่งให้เราได้วิเคราะห์และตัดสินใจเองว่า ข้อมูลที่ได้รับนั้น เราจะเลือกพิจารณาและเชื่ออย่างไร ข้อมูลในวันนี้ก็ได้จากหลายตำราที่วิทยากรรวบรวมมากให้ ทำให้เราได้สังเคราะห์และพิจารณาเองว่าประวัติศาสตร์ที่เราได้รับรู้มุมเดียว หรือได้มาบางส่วนและข้อมูลที่ได้เพิ่มเติม เราจะวิเคราะห์อย่างไร
ขณะที่ “ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ” เจ้าของ “ศิริวัฒน์แซนด์วิช” ผู้ฟันฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 ได้ร่วมเดินทางครั้งนี้ บอกว่า ประทับใจวิทยากรและทีมงาน ประกอบกับโดยส่วนตัวก็ศึกษาเรื่องพระเจ้าตากฯ เป็นแรงบันดาลใจเมื่อครั้งประสบวิกฤตเศรษฐกิจด้วย
“ขอบคุณมติชนอคาเดมี ที่จัดทัวร์ดีๆ รู้สึกมีประโยชน์มากและเป็นการพักผ่อนไปในตัว ได้มารู้ประวัติศาสตร์ และมีความเพลิดเพลิน หลายปีที่ผ่านมาก็ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้าตากฯ ที่จริงได้รู้จักเรื่องราวของท่านก็ตอนเราเรียนมัธยม ท่านได้กอบกู้เอกราชของชาติไทย เราคิดว่าถ้าไม่มีท่าน พวกเราคงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศพม่าไปแล้ว
เมื่อไม่กี่ปีมานี้ในช่วงประสบวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ช่วงนั้นลำบากมาก พยายามดิ้นรน และได้นึกถึงพระองค์ท่าน คิดว่าท่านคงได้ดลบันดาลใจให้สู้ต่อ การเดินทางทริปนี้ รู้สึกประทับใจทีมงานที่ต้อนรับดูแลดี และการจัดการได้รับความสะดวกสบาย และวิทยากรมีคุณภาพ รู้จริง ถามอะไรก็ตอบได้หมด”
พระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขณะทรงศีลในวัดอินทาราม
สำหรับ “ริศิษฏ์ ชมเชิงแพทย์” อดีตสถาปนิกผู้ใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุราชการ ในการท่องเที่ยวชมความงามของสถาปัตยกรรมและแลกเปลี่ยนความรู้ทางประวัติศาสตร์กับทัวร์ศิลปวัฒนธรรมมาแล้วเกือบทุกทริปบอกว่า
ไปกับอคาเดมี3-4 ครั้ง ได้ความรู้ เพลิดเพลิน สะดวกสบายได้พักผ่อนในตัว
ครั้งนี้ก็รู้สึกประทับใจ ปกติก็ให้ความสนใจประวัติศาสตร์ โดยความรู้เดิมผมเป็นสถาปนิก ก็สนใจเกี่ยวกับเรื่องสถาปัตยกรรมไปด้วย ก็ได้ประโยชน์ ตอนนี้มีเวลาว่าง เพราะเกษียรอายุราชการแล้ว ก็ต้องหาอะไรทำไม่ให้เบื่อหน่ายและได้ความรู้ด้วย
“สำหรับการบรรยายของวิทยากรแต่ละท่านดีมากผมคิดว่าคงจะเตรียมมาดี และสังเกตว่า คณะที่มาทัวร์ เป็นคอเดียวกัน ให้ความสนใจ จะต้องมีคำถาม ผมเองก็มีคำถามในเรื่องที่เรา สงสัยมาก่อน ไม่รู้จะหาความกระจ่างที่ไหน การมาเที่ยวครั้งนี้ ก็ได้ถือโอกาสถามอาจารย์ด้วย”
ด้าน ปรามินทร์ บอกว่า ลูกทัวร์ทุกคนให้ความสนใจ มีการตั้งคำถามทีเด็ดเยอะ หวาดเสียวเยอะ ซึ่งเราก็ตอบกันไม่กั๊ก ตอบกันเต็มที่ เฉียดฉิว ซึ่งไม่น่าพลาดทัวร์หัวข้อนี้ในครั้งหน้า (7 ก.ค.2555) เพราะยังมีมุข ที่รอเฉียดฉิวอยู่คราวหน้า รอว่าถ้าท่านมาแล้ว ท่านมีคำถามอะไรค้างคาในใจ ทริปที่ผ่านมานี้ตอบเรียบไม่เหลือ สำหรับทัวร์ครั้งหน้า ถ้าลูกทัวร์กล้าถาม เราตอบหมด เราไม่มีเว้นคำถามใดคำถามหนึ่งเอาไว้เลย
“บางอย่างเขียนไม่ได้ แล้วคราวนี้หลุดปากไปเยอะ ถือว่าไม่ได้ตั้งใจ แต่ก็เป็นข้อมูลล้วนๆ อยู่บนพื้นฐานของหลักฐาน วิธีการหนังสือศิลปวัฒนธรรม จะเห็นได้ว่าการเขียนบางเรื่อง ค่อนข้างลำบาก คราวนี้เปิดประเด็น ให้ลูกทัวร์หลายเรื่อง เรื่องที่เฉียดฉิว หวาดเสียวทั้งนั้น” ปรามินทร์กล่าว
ขณะที่ ปรีดี บอกว่า วัตถุประสงค์ของการทัศนศึกษาครั้งนี้ เราแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง คือ
อยากให้มีการรู้ลึกๆ เกี่ยวกับพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือพระเจ้าตากสิน
อีกอย่างหนึ่งคือ อยากให้เห็นวิถีชีวิตของคนริมคลอง ซึ่งเป็นคลองสำคัญก็คือ คลองบางกอกใหญ่ คลองด่าน
และพระราชประวัติของรัชกาลที่ 3 เพราะถือว่าบริเวณวัดหนัง วัดนางนอง จะเกี่ยวข้องกับพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 3
จุดที่พลาดไม่ได้ จุดแรกเลย เป็นการเดินทางทางเรือ เพราะเป็นสิ่งที่คนกรุงเทพฯ ไม่ค่อยได้พบเจอ คลองซึ่งเป็นเส้นทางสัญจรของคนในอดีต เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นลักษณะพิเศษของทัวร์นี้ คือเราจะได้ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคน ซึ่งคือคนไทยที่ผูกพันกับลำคลอง
ส่วนเนื้อหาไฮไลท์ คือการเข้าถึง เอกสารต่างๆ และความเชี่ยวชาญของวิทยากร ทั้ง กรณีพระเจ้าตาก และประเด็นเกี่ยวกับย่านวัดหนัง วัดนางนอง มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ รัชกาลที่ 3 เพราะย่านดังกล่าวเป็นนิวาสสถานเดิมของ พระราชมารดาของรัชกาลที่ 3 ทั้ง 2 วัดจึงเป็นวัดหลวง ที่คู่กับวัดราชโอรส ซึ่งถือเป็นวัดประจำพระองค์ของรัชกาลที่ 3
"การเดินทางในครั้งนี้ เราจะได้รับเนื้อหาข้อมูลแบบลึกๆ เต็มๆ และการอธิบายสิ่งที่ถูกต้องในข้อมูลที่เรามี และครั้งหน้าก็เช่นกัน เราก็คงมีเกร็ดที่เอามาเสริม เพราะดูลูกทัวร์หลายท่านพึงพอใจ ชอบที่จะรู้เรื่องพระราชประวัติและความเปลี่ยนแปลงความไม่ชอบมาพากล ฉะนั้น ครั้งหน้าจะจัดข้อมูลมาอีกเยอะๆ เอาประเด็นมาคุยกัน เราถือว่า เมื่อมากับมติชนอคาเดมีแล้ว เราจะต้องรู้ลึกรู้จริง ตามแบบฉบับของศิลปวัฒนธรรม" ปรีดีกล่าว
ที่มา
http://www.matichon.co.th/play_clip.php?newsid=1340961920ขอบคุณภาพจาก
http://www.dhammajak.net/