ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติ "ท้าวอมรินทร์เทวาธิราช" (พระอินทร์)  (อ่าน 23660 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28595
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
ประวัติ ท้าวอมรินทร์เทวาธิราช (พระอินทร์)


พระอินทร์ผู้เป็นใหญ่แห่งสรวงสวรรค์
          พระอินทร์เป็นตำแหน่งของพระราชาแห่งเทพทั้งปวง ในสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตำแหน่ง นี้จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน ไปตามผลแห่งบุญกรรมที่ได้กระทำไว้ พระอินทร์องค์ใดสิ้นบุญ ก็จะมีองค์ใหม่ขึ้นมาแทนที่ กล่าวได้ว่า พระอินทร์นั้นมีหลายองค์ แต่ละองค์ก็มีอายุขัยเป็นไปตามบุญกุศลที่ตนได้กระทำมา

          เรื่องราวของพระอินทร์น่าจะเป็นบทเรียนที่ช่วยให้รู้และเข้าใจถึงการทำ ประโยชน์เพื่อส่วนรวม ว่าท่านคิดอะไรถึงได้ทำเช่นนั้น นอกจากนี้การได้เรียนรู้วิธีคิดและการกระทำของพระอินทร์ เป็นสิ่งที่เราสามารถกระทำตามได้ไม่ยาก ไม่ใช่เรื่องห่างไกลและเฟ้อฝันเลย เพราะตัวท่านเองก็ได้ประพฤติปฏิบัติเช่นนี้ในขณะที่ยังเป็นมนุษย์ปุถุชน  ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงพระอินทร์สมัยพุทธกาลเท่านั้น
อดีตชาติของพระอินทร์


          ณ  หมู่บ้านมจลคาม แคว้นมคธ มีมาณพคนหนึ่งชื่อว่า มฆมาณพ มีใจใฝ่ให้ทาน รักษาศีลอยู่เสมอ ทั้งยังชอบแผ้วทาง ทำงานสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น ปรับพื้นที่ให้เรียบเสมอกัน สร้างศาลา ปลูกต้นไม้ ขุดสระน้ำ ทำถนนหนทาง ทำสะพาน จัดทำจัดหาตุ่มน้ำ และสิ่งทั้งหลายเพื่อประโยชน์แก่ส่วนรวม มีปกติชอบความสะอาดเรียบร้อย ต้องการให้ท้องถิ่นดูสะอาดน่ารื่นรมย์

คิดดี คิดถูก คิดเป็น นำมาซึ่งความสุข
          ขณะที่มฆมาณพทำงานในหมู่บ้าน ก็ใช้เท้าเกลี่ยฝุ่นในที่ซึ่งยืนอยู่ให้เรียบ คนอื่นเข้ามาแย่งที่ ก็ไม่โกรธ กลับถอยไปทำที่อื่นให้เรียบต่อ แต่ก็ยังมีคนมายึดที่ที่เกลี่ยเรียบไว้แล้วนั้นอีก ถึงกระนั้นมฆมาณพก็ไม่โกรธ กลับเห็นว่าคนทั้งปวงมีความสุขด้วยการ กระทำของตน ฉะนั้นกรรมนี้ ย่อมส่งผลกลับมาเป็นบุญที่ให้สุขแก่ตนแน่

          มฆมาณพก็ยิ่งมีจิตขะมักเขม้น ตั้งใจที่จะทำพื้นที่ให้เป็นที่น่ารื่นรมย์มากยิ่งๆ ขึ้น จึงใช้จอบขุดปรับพื้นที่ให้เรียบเป็นลานให้แก่คนทั้งหลาย  ทั้งยังเอาใจใส่ให้ไฟให้น้ำในเวลาที่ต้องการและได้แผ้วถางสร้างทางสำหรับคน

          ต่อมามีชายหนุ่มอีกหลายคนได้เห็นก็มีใจนิยมมาสมัคร เป็นสหายร่วมกันทำทางเพิ่มขึ้น จนมีจำนวนนับได้ ๓๓ คน ทั้งหมดช่วยกันขุดถมทำถนนยาวออกไป จนถึงประมาณโยชน์หนึ่งบ้างสองโยชน์บ้าง

เมื่อประพฤติธรรม ย่อมไม่หวั่นภัยใด ๆ
          ฝ่ายนายบ้านเห็นว่าคนเหล่านั้นประกอบการงานที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควร จึงเรียกว่าสอบถามและสั่งให้เลิก แต่มฆมาณพและสหายกลับกล่าวว่า พวกตนทำทางสวรรค์ จึงไม่ฟังคำห้ามของนายบ้าน พากันทำประโยชน์ต่อไป นายบ้านโกรธและไปทูลฟ้องพระราชาว่า มีโจรคุมกันมาเป็นพวก พระราชามิได้พิจารณาไต่สวน หลงเชื่อมีรับสั่งให้จับมฆมาณพและสหายมา แล้วปล่อยช้างให้เหยียบเสียให้ตายทั้งหมด

          ฝ่ายมฆมาณพเห็นเช่นนั้นก็ได้ให้โอวาทแก่สหายทั้งหลาย ไม่ให้โกรธผู้ใดและให้แผ่เมตตาจิตไปยังพระราชา นายบ้าน ช้างและตนเอง ให้เสมอเท่ากัน ชายหนุ่มทั้งหมดได้ปฏิบัติตาม ช้างไม่สามารถเข้าใกล้ด้วยอำนาจเมตตา

          พระราชาเห็นดังนั้นจึงรับสั่งให้ใช้เสื่อลำแพนปูปิดคนเหล่านั้นเสีย แล้วปล่อยให้ช้างเหยียบอีก แต่ช้างกลับถอยไป พระราชารับสั่งให้นำคนเหล่านั้นมาเข้าเฝ้า แล้วตรัสสอบถาม เมื่อทรงทราบความจริง ก็ทรงโสมนัสและทรงแต่งตั้งมฆมาณพให้เป็นนายบ้านแทนนายบ้านคนเดิม ซึ่งตอนนี้ถูกลงโทษให้เป็นทาส

บุญเท่านั้น ที่เป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย
          สหายทั้ง ๓๓ คน นอกจากจะได้พ้นโทษออกมา ยังได้รับพระราชทานกำลังสนับสนุน ก็ยิ่งเห็นอานิสงส์ของบุญ มีใจผ่องใสคิดทำบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ได้สร้างศาลาเป็นที่พักของมหาชนเป็นถาวรวัตถุที่หนทางใหญ่สี่แพร่ง

          ศาลานั้นได้แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ที่พักสำหรับคนทั่วไป ส่วนหนึ่งสำหรับคนเข็ญใจ ส่วนหนึ่งสำหรับคนป่วย ทั้ง ๓๓ คนได้ปูลาดแผ่นอาสนะไว้ทั้ง ๓๓ ที่ โดยตกลงกันไว้ว่า ถ้าอาคันตุกะเข้าไปพักบนแผ่นอาสนะของผู้ใด ก็ให้เป็นภาระของผู้นั้นจะรับรองเลี้ยงดู มฆมาณพยังได้ปลูกต้นทองหลาง (โกวิฬาระ) ไว้ต้นหนึ่งในที่ไม่ไกลจากศาลา ภายใต้ต้นทองหลางได้วางแผ่นหินไว้ด้วย

          มฆมาณพและสหายบำเพ็ญสาธารณกุศลเช่นนี้ตลอดชีวิต เรียกว่า บำเพ็ญวัตตบท ๗ ประการ  ครั้นสิ้นอายุได้บังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

วัตตบท ๗ ประการได้แก่
๑. เลี้ยงมารดาบิดาตลอดชีวิต
๒. ประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต
๓. มีวาจานุ่มนวลสุภาพตลอดชีวิต
๔. มีวาจาไม่ส่อเสียดตลอดชีวิต
๕. มีใจปราศจากความตระหนี่ ยินดีในการแจกทาน ครองเรือนตลอดชีวิต
๖. มีวาจาสัตย์จริงตลอดชีวิต
๗. ไม่โกรธ แม้ว่าถ้าโกรธก็ระงับได้ทันทีตลอดชีวิต


ทรงมีหลายชื่อ
          ชื่อที่เรียกพระอินทร์มีหลายชื่อ แต่ละชื่อบอกถึงคุณสมบัติหรือกุศลที่ทรงได้ทำมาในอดีต

ท้าวมฆวาน -  เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ชื่อว่า มฆะ
ท้าวปุรินททะ- เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ทานในเมือง
ท้าวสักกะ-  เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ทานโดยความเคารพ
ท้าววาสะ หรือวาสพ - เมื่อสมัยเป็นมนุษย์ได้ให้ที่พัก
ท้าวสหัสสักขะ หรือ สหัสสเนตร หรือ ท้าวพันตา - ทรงคิดรู้ความทั้งพันชั่วเวลาครู่เดียว
ท้าวสุชัมบดี - ทรงมีชายาชื่อสุชา
ท้าวเทวานมินทะ หรือพระอินทร์ - ทรงครอบครองราชสมบัติเป็นอิสริยาธิบดีแห่งทวยเทพชั้นดาวดึงส์


ความเพียร

          ในคราวที่สุวีวรเทวบุตรขอพรกับพระอินทร์ ว่าขอให้ตนได้เป็น "ผู้ที่เกียจคร้าน ไม่ขยันหมั่นเพียร ไม่ทำกิจที่ควรทำ แต่ก็ได้รับความสำเร็จทุกอย่างตามที่ปรารถนา"

    พระอินทร์ทรงตรัสเพื่อให้คิดว่า
          "คนเกียจคร้านบรรลุถึงความสุขอย่างยิ่งในที่ใด ก็ให้ท่านจงไปในที่นั้นเอง และช่วยบอกให้ข้าพเจ้าได้ไปในที่นั้นด้วย"

          ถึงกระนั้น สุวีรเทวบุตรก็ยังขอพรว่า "ขอพระองค์ได้โปรด ประทานพรความสุขชนิดที่ไม่มีทุกข์โศก โดยไม่ต้องทำอะไรเลย"

          พระอินทร์ตรัสว่า "ถ้าจะมีใครดำรงชีวิตอยู่โดยไม่ต้อง ทำอะไรในทิศทางไหน นั่นเป็นทางนิพพานแน่ ให้ท่านจงไปและช่วยบอกข้าพเจ้าให้ไปด้วย"

ขันติธรรม
          ในสงครามคราวหนึ่งฝ่ายเทวดาชนะอสูร ท้าวเวปจิตติอสุรินทร์ถูกจับได้และถูกพันธนาการมายังสุธัมมสภา ขณะที่เข้าและออกจากสภา ก็ได้บริภาษด่าพระอินทร์ด้วยถ้อยคำหยาบช้าต่างๆ แต่พระอินทร์ก็ไม่ได้โกรธแม้แต่น้อย

          พระมาตลีเทพสารถีจึงทูลถามพระอินทร์ว่า "ทรงอดกลั้น ได้เพราะกลัว หรือว่า เพราะอ่อนแอ"
          พระอินทร์ตรัสว่า "เราทนได้ไม่ใช่เพราะกลัว ไม่ใช่เพราะอ่อนแอ แต่วิญญูชนเช่นเราจะตอบโต้กับพาลได้อย่างไร"

          พระมาตลีแย้งว่า "พาลจะกำเริบถ้าไม่กำหราบเสีย เพราะฉะนั้นผู้มีปัญญาพึงกำหราบเสียด้วยอาชญาอย่างแรง"

          พระอินทร์ "เมื่อรู้ว่าเขาโกรธแล้วมีสติสงบลงได้ นี่แหละ เป็นวิธีกำหราบพาล
          พระมาตลีก็ยังแย้งว่า "ความอดกลั้นดังนั้นมีโทษ พาลจะเข้าใจว่าผู้นี้อดกลั้นเพราะกลัว ก็จะยิ่งข่ม เหมือนโคยิ่งหนีก็ยิ่งไล่"

          พระอินทร์ "พาลจะคิดอย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของตนสำคัญยิ่ง และไม่มีอะไรจะยิ่งไปกว่าขันติ ผู้ที่มีกำลัง อดกลั้นต่อผู้ที่อ่อนแอ เรียกว่าขันติอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่อ่อนแอ ต้องอดทนอยู่เองเสมอไป ผู้ที่มีกำลังและใช้กำลังอย่างพาล ไม่เรียกว่า มีกำลัง ส่วนผู้ที่มีกำลังและมีธรรมะคุ้มครอง ย่อมไม่โกรธตอบ

          ผู้โกรธตอบผู้โกรธ  หยาบมากกว่าผู้โกรธทีแรก ส่วนผู้ที่ไม่โกรธตอบผู้โกรธชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก ผู้ที่รู้ว่าเขาโกรธ แต่มีสติสงบได้ ชื่อว่าประพฤติประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น  แต่ผู้ที่ไม่ฉลาดไม่รู้ธรรมก็ย่อมจะเห็นผู้ที่รักษาประโยชน์ตนและผู้อื่น ทั้งสองฝ่ายดังกล่าว ว่าเป็นคนโง่เสีย"

ความไม่โกรธ
        ครั้งหนึ่งพระอินทร์เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วทูลถามว่า "ฆ่าอะไรได้อยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรได้ไม่โศก" พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า "ฆ่าความโกรธ"

          ในครั้งหนึ่งได้มียักษ์ตนหนึ่งผิวพรรณเศร้าหมอง รูปร่างน่าเกลียด ขึ้นไปนั่งบนอาสนะของพระอินทร์ พวกเทพชั้นดาวดึงส์พากันโพนทนาติเตียน แต่ยิ่งโพนทนาติเตียน ยักษ์นั้นก็ยิ่งงามยิ่งผ่องใส จนพวกเทพพากันประหลาดใจว่า น่าจะเป็นยักษ์กินโกรธ

          พระอินทร์ทรงทราบความนั้นแล้วได้เสด็จเข้าไป ทำผ้าเฉวียงพระอังสะข้างซ้าย คุกเข่าขวาลง และประคองอัญชลีเหนือพระเศียร ประกาศพระนามของพระองค์ขึ้น ๓ ครั้งว่า พระองค์คือ ท้าวสักกะจอมเทพ ยักษ์นั้นกลับมีผิวพรรณเศร้าหมอง รูปร่างน่าเกลียดยิ่งขึ้นจนหายไปในที่นั้น พระองค์ขึ้นประทับบนอาสนะของพระองค์แล้วตรัสอบรมพวกเทพ และตรัสว่า พระองค์ไม่ทรงโกรธมาช้านาน ความโกรธไม่ตั้งติดในพระองค์ แม้จะโกรธชั่ววูบเดียวก็ไม่กล่าวผรุสวาจา ทรงข่มตนได้

          คราวหนึ่งพระองค์ทรงอบรมเทพทั้งหลายว่า ให้มีอำนาจเหนือความโกรธ อย่าจืดจางในมิตร อย่าตำหนิผู้ไม่ควรตำหนิ อย่ากล่าวส่อเสียด อย่าให้ความโกรธเข้าครอบงำ อย่าโกรธตอบผู้โกรธ ความไม่โกรธและความไม่เบียดเบียนมีอยู่ในพระอริยะทั้งหลายทุกเมื่อ ความโกรธทับบดคนบาปเหมือนภูเขา

          จะเห็นได้ว่าคุณธรรมที่พระอินทร์ทรงประพฤติปฏิบัติทั้งขณะที่เป็นมนุษย์และ เทวดา เป็นสิ่งที่เราสามารถกระทำตามได้ เป็นตัวอย่างที่ดีของการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์โดยหวังผลคือ ความสุขของส่วนรวม

          แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าคุณธรรมต่างๆ เหล่านี้ นับวันจะเลือนหายไปในสังคมไทยของเรา เพราะคิดแต่จะเจริญรอยตามวัฒนธรรมฝรั่ง โดยหารู้ไม่ว่า ได้เพาะเมล็ดพันธ์แห่งความเห็นแก่ตัว ความไร้คุณธรรม ลงไปในความอยากมีอยากเป็นตามกระแสของสังคมศิวิไลซ์ที่เน้นวัตถุนิยม

          ฉะนั้น หากเราช่วยกันนำคุณธรรมที่ดีงามต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งบรรพบุรุษของเราเคยทำมาแล้ว ให้กลับคืนมา สังคมอันดีงาม เต็มเปี่ยมไปด้วยธรรม ก็ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน
-------------------------

อารามโรปา วนโรปา  เย ชนา เสตุการกา
ปปญฺจ อุทปานญฺจ    เย ททนฺติ อุปสฺสยํ
เตสํ ทิวา จ รตฺโต จ   สทา ปุญฺญํ ปวฑฺฒติ.

ชนเหล่าใด สร้างสวน ปลูกป่า ให้โรงประปา บ่อน้ำ และที่พักอาศัย
บุญของชนเหล่านั้น ย่อมเพิ่มพูนทุกเมื่อ ทั้งคืนทั้งวัน


คัดลอกจาก: ธรรมะเพื่อชีวิต
เล่มที่ ๓๓ ฉบับเข้าพรรษา ๒๕๔๕
มูลนิธิพุทธศาสนศึกษา วัดบุรณศิริมาตยาราม
ที่มา  http://www.sil5.net/index.asp?catid=2&contentID=10000004&getarticle=12&title=%BB%C3%D0%C7%D1%B5%D4+%B7%E9%D2%C7%CD%C1%C3%D4%B9%B7%C3%EC%E0%B7%C7%D2%B8%D4%C3%D2%AA+%28%BE%C3%D0%CD%D4%B9%B7%C3%EC%29

บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28595
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ประวัติ "ท้าวอมรินทร์เทวาธิราช" (พระอินทร์)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 04, 2010, 11:25:56 am »
0
ประวัติพระอินทร์
จากเว็บมนตราเทวะ

พระอินทร์ (สันสกฤต: อินฺทฺร, บาลี : อินฺท) เป็นชื่อของเทวดาในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ โดยมีตำแหน่งเทวาธิบดี เป็นประมุขแห่งเทวดาทั้งปวง มีหน้าที่ปกครองสวรรค์และอภิบาลโลก ถือกำเนิดขึ้นในสมัยฤคเวท
อินทร์" แปลว่าผู้เป็นใหญ่


พระอินทร์ หรือ ท้าวอมรินทร์เทวาธิราชคือ เทวดาผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระเทวาธิบดี / เทพแห่งการสงคราม และภูมิอากาศ มีกายสีเขียว มีพระเนตรถึงพันดวง ใช้วัชระ(สายฟ้า) เป็นอาวุธ  มีช้างเอราวัณเป็นพาหนะ  พระองค์มีมเหสี ๔ องค์ คือ สุจิตรา สุธรรมา สุนันทา และสุชาดา

        พระอินทร์เป็นผู้ดูแลทุกข์สุขของมนุษย์โลก  ยามใดที่มีเรื่องเดือดร้อนขึ้นบนโลกมนุษย์ อาสนะของพระองค์ที่เคยอ่อนนุ่ม ก็จะแข็งกระด้าง หรือบางครั้งก็ร้อนจนไม่สามารถประทับอยู่ได้

        พระอินทร์มีชื่อเรียกอย่างอื่น เช่น ท้าวสหัสนัยน์ ท้าวโกลีย์ ท้าวสักกะ เทวราช อมรินทร์ ศักรินทร์ มัฆวาน เพชรปาณี

คัมภีร์พระเวทสมัยพุทธกาลเดิมมี 3 เรียกว่าไตรเพท คือ

1.ฤคเวท โศลกบทร้อยกรอง ใช้สวดสรรเสริญเทพเจ้า
2.ยชุรเวท เป็นคำร้อยแก้ว ว่าด้วยระเบียบในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ
3.สามเวท เป็นคำฉันท์ ใช้สวดในพิธี ฯ


และเพิ่มมาอีก 1 คือ อาถรรพเวท เป็นที่รวมคาถา อาคม เวทมนต์ ฯ

ในบรรดาเทพเหล่านั้น พระอินทร์ก็เป็นเทพที่รู้จักกันมากตั้งแต่ยุคพระเวท ก่อนจะมีพระพรหม พระวิษณุ พระอิศวร ในคัมภีร์ฤคเวทซึ่งเป็นคัมภีร์เก่าแก่ที่สุดของอินเดียได้เปิดตัวพระอินทร์ ไว้อย่างเกรียงไกรมาก

คัมภีร์ฤคเวทกล่าวว่า อสูรตนหนึ่งชื่อวฤตรา ได้กวาดต้อนฝูงควายสวรรค์ที่ทำหน้าที่เป็นเมฆฝนกักไว้ในป้อมของตน ทำให้เกิดความแห้งแล้งทั่ว มนุษย์จึงวิงวอนสวดขอความช่วยเหลือจากเทพ

....บิดาแห่งสวรรค์คือทยาอุสได้รวมตัวกับพระแม่ธรณี ปฤถิวีสร้างพระอินทร์ขึ้นมา ทันทีที่ถือกำเนิด พระอินทร์ก็คว้าน้ำอมฤตมาดื่มจนร่างเต็มเปี่ยมไปด้วยเทวอำนาจกลายเป็นพระ เจ้าผู้ครองโลกทั้งสาม ดื่มเสร็จก็ฉวยสายฟ้าซึ่งเป็นอาวุธของทยาอุสกระโดดขึ้นรถทรงสีทองพร้อมด้วย มารุตเทพ(เทพแห่งพายุและฟ้าผ่า) และได้ไปปราบอสูรวฤตรา ภายหลังก็กลับมาฆ่าพระบิดาแล้วสถาปนาตนเองเป็นบิดาแห่งสวรรค์

คัมภีร์ฤคเวทในที่บางแห่งกล่าวว่าพ่อของพระอินทร์ได้แก่ฟ้า(ทยาอุส) แม่คือดิน(แม่พระธรณี) พอพระอินทร์เกิดมาก็เอาน้ำโสมมาดื่ม ดื่มแล้วรูปร่างก็โตใหญ่ขึ้นมาทันที โตขึ้นมากจนพ่อกับแม่ตกใจหนีกันไปคนละทาง ฟ้ากับดินเคยอยู่ร่วมกันมานานแต่ไหนแต่ไรมา ต้องมาแยกกันตอนเห็นลูกตัวโตนี่เอง

พระอินทร์เป็นเทวราชาผู้ทรงเป็นเจ้าแห่งพายุ ฝน การเกษตรและความอุดมสมบูรณ์ .....ดังนั้นจึงมีผู้คนเป็นอันมากเคารพนับถือและอ้อนวอนต่อพระองค์เพื่อหวัง อย่าให้เกิดความแห้งแล้งให้มีแต่ความอุดมสมบูรณ์...

พระอินทร์เป็นเทวราชาผู้ทรงเป็นเจ้าแห่งพายุฝน การเกษตรและความอุดมสมบูรณ์ .....ดังนั้นจึงมีผู้คนเป็นอันมากเคารพนับถือและอ้อนวอนต่อพระองค์เพื่อหวัง อย่าให้เกิดความแห้งแล้งให้มีแต่ความอุดมสมบูรณ์

พระอินทร์เป็นเทพที่รู้จักกันมาเก่า แก่ในยุคพระเวท และไตรเพทก็ยกย่องเทวดาองค์ นี้มากเป็นพิเศษ สมัยพระเวททรงยิ่งใหญ่กว่าเทพองค์ไหนๆ และตอนนั้นยังไม่ปรากฏตรีมูรติ อำนาจของพระอินทร์เริ่มเสื่อมถอยลงเมื่อมี การสถาปนามหาเทพทั้งสาม หรือพระตีมูรติ

ที่มา  http://montradevi.makewebeasy.com/index.php?type=webboard&add=2&update=1&id=34027
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28595
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ประวัติ "ท้าวอมรินทร์เทวาธิราช" (พระอินทร์)
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: สิงหาคม 04, 2010, 11:33:18 am »
0
พระอินทร์ตามศาสนาพราหมณ์
จากวิกิพีเดีย

พระอินทร์ (สันสกฤต: อินฺทฺร, บาลี : อินฺท) เป็นชื่อของเทวดาในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ โดยมีตำแหน่งเทวาธิบดี เป็นประมุขแห่งเทวดาทั้งปวง มีหน้าที่ปกครองสวรรค์และอภิบาลโลก ถือกำเนิดขึ้นในสมัยฤคเวท ต่อมาในสมัยที่ตรีมูรติอุบัติขึ้น พระอินทร์ก็ถูกลดบทบาทลงและเริ่มมีพฤติกรรมทางเพศมากขึ้น กระทั่งกลายเป็นเทวดาชั้นรองจากตรีมูรติในปัจจุบัน

 

๑. ความสำคัญ
คัมภีร์ฤคเวทมีว่า “...ผู้บังคับบัญชาอาชาชาติ ราชรถ ชนคาม และปศุสัตวานุสัตว์. ผู้กระทำให้มีซึ่งตะวันและกาลอรุณรุ่ง ผู้กระทำให้สายน้ำขับเคลื่อน โอ พระอินทร์นั่นแล้ว. พระอินทร์ผู้ปลดเปลื้องโศกาดูรแห่งอนาถาชน ผู้ปลดเปลื้องรัตติกาลด้วยอโณทัย ผู้กระทำให้ความไม่สมบูรณ์เป็นความสมบูรณ์...    ”

ในยุคเริ่มแรกตามคัมภีร์ฤคเวท พระอินทร์เป็นประมุขแห่งทวยเทพ เป็นเจ้าแห่งสภาพภูมิอากาศ และเป็นเจ้าแห่งการสงคราม มีอุปนิสัยชอบดื่มสุรา สมัยแรกมักเรียกพระอินทร์ว่า สักกะ (แปล: ผู้องอาจเป็นเลิศ) ซึ่งขณะนั้นมีจำนวนเทวดาทั้งสิ้นสามสิบสามตน และพระอินทร์เป็นประมุขของเทวดาเหล่านี้ คัมภีร์ส่วนใหญ่กล่าวถึงวีรกรรมของพระอินทร์ในการปราบอสูรชื่อวฤตระ (Vritra) และวีรกรรมในการอภิบาลจักรวาลนานัปการ

ต่อมาการนับถือพระอินทร์ทวีเรื่อย ๆ พระอินทร์กลายเป็นต้นแบบแห่งกษัตริย์ทั้งมนุษย์และเทวดาทั้งปวง ในภควัทคีตามีบทอธิบายถึง

๒. ความสำคัญของพระอินทร์ว่า
“    เปรียบกับบรรดาคัมภีร์ทั้งปวง ข้าพเจ้าคือคัมภีร์สามเวท. เปรียบกับเทวาสุรทั้งปวง ข้าพเจ้าคือพระอินทร์ ประมุขแห่งทวยเทพ. เปรียบกับสัมผัสประสาททั้งปวง ข้าพเจ้าคือปัญญาประสาท. และในสิ่งมีชีวิตทั้งปวง ข้าพเจ้าคือจิตสำนึกแห่งเขาเหล่านั้น...    ”

๓. สถานะ และอำนาจหน้าที่
พระอินทร์เป็นเทวดาองค์สำคัญของศาสนาพราหมณ์ โดยเป็นประมุขแห่งทวยเทพ และเป็นประธานเทวสภา มีอำนาจหน้าที่ปกครอง ควบคุม ธำรง รักษา และบำรุงสวรรคโลกและมนุษยโลก ปรากฏมากในปรัมปราของศาสนาพราหมณ์ซึ่งสงครามระหว่างพระอินทร์และความชั่ว ร้ายบรรดามี

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ พระอินทร์มีบทบาทลดลงโดยเป็นเทวดาชั้นรองและมีหน้าที่รองจากตรีมูรติ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม อำนาจหน้าที่บางประการของพระอินทร์ถูกโอนไปให้ตรีมูรติ เช่น พระอิศวรกลายเป็นประมุขสูงสุดแห่งทวยเทพและเป็นประธานเทวสภา พระนารายณ์มีอำนาจหน้าที่อภิบาลมนุษยโลกแทน กับทั้งพลังอำนาจของพระอินทร์ยังเป็นรองตรีมูรติ

เป็นต้นว่า ในคราวที่พระนารายณ์แบ่งภาคลงไปเป็นพระกฤษณะ พระกฤษณะสามารถสำแดงเดชยกเขาบังห่าฝนที่พระอินทร์บันดาลให้เกิดขึ้นมา เพื่อทรมานเหล่าผู้คน เพราะเสื่อมศรัทธาในพระอินทร์

๔. องค์ประกอบ
สมัยฤคเวท พระอินทร์มีร่างกาย ผม เครา และเล็บสีทอง ในสมัยต่อมา พระอินทร์เริ่มมีหน้าตาและรูปร่างสวยขึ้น โดยมีร่างกายสีแดง และกลายเป็นสีเขียวในปัจจุบัน คัมภีร์ฤคเวทมีว่า

“ รังสีแห่งพระอินทร์นั้นหรือ คือสีทอง. พระอินทร์ผู้มีเคราและผมสีทองซึ่งโปรดปรานการดื่มสุรานั้นเคลื่อนไหวรวดเร็ว ราวกับลมกรด. พระอินทร์มีใบหน้าสวยงาม...พละกำลังแข็งแกร่งสมชาย...เป็นวีรบุรุษโดยแท้. ”

อาวุธประจำกายของพระอินทร์ได้แก่วชิราวุธ คือ สายฟ้า, พระขรรค์ชื่อ "ปรัชญะ," ตะขอ และแหตาข่าย.

พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ (จิตรกรรมลายรดน้ำ วัดสุทัศนเทพวราราม)

พระอินทร์มีพาหนะคือช้างเอราวัณ ซึ่งปรกติเป็นเทวดาองค์หนึ่ง เมื่อพระอินทร์ประสงค์จะเดินทางไปในที่ใด เทวดาเอราวัณก็จะกลายร่างเป็นช้างพาหนะ

พระอินทร์มีหนึ่งหน้า สี่มือ แต่โดยปรกติแล้วในจิตรกรรมต่าง ๆ มักปรากฏเพียงสองมือ มือหนึ่งถือวชิราวุธ

ที่พักของพระอินทร์เรียก "ไวชยนต์" ตั้งอยู่ในเมืองอมราวดี บนเขาพระสุเมรุ เขาพระสุเมรุนี้เป็นที่ตั้งของชั้นฟ้าหรือสวรรคโลก บรรดาเทวดาในอมราวดีนครไร้ทุกข์ทุกประเภท วันหนึ่ง ๆ ชื่นชมและสมสู่กับอัปสร และเล่นสนุกบรรดามี

๕. ความเจ้าชู้ของพระอินทร์
๕.๑ นางกาลอัจนา

ใน เรื่องรามเกียรติ์ กาลอัจนาเป็นเด็กสาวที่มีความ น่ารักเป็นเลิศซึ่งฤๅษีโคดมสร้างขึ้นมาจากกองไฟเพื่อเป็นคู่สมรสของตน เนื่องจากได้รับคำสบประมาทจากนกกระจาบผัวเมียที่เกาะอยู่ข้างอาศรมว่าฤๅษีมี บาปเพราะไร้ผู้สืบสกุล ฤๅษีโคดมและกาลอัจนามีธิดาด้วยกันหนึ่งคนชื่อว่า สวาหะ

ภายหลังจากที่พระนารายณ์อวตารลงมาเป็นพระรามเพื่อปราบทศกัณฐ์ พระอินทร์คิดสนับสนุนพระราม และเผอิญมองลงมาจากวิมานเห็นกาลอัจนามีความน่ารักจับใจก็เกิดรักขึ้น เหาะลงมาหาในระหว่างที่ฤๅษีออกจากอาศรมเข้าป่าไปหาอาหาร


ฝ่ายกาลอัจนาเห็นพระอินทร์รูปร่างหน้าตาสะสวยองอาจก็เกิดรักเช่นเดียวกัน ทั้งสองลักลอบได้เสียกันในคราวนั้นโดยไม่ทราบว่านางสวาหะแอบดูอยู่ภายนอก กาลอัจนาตั้งท้องกับพระอินทร์ ให้กำเนิดบุตรชายมีร่างกายสีเขียว ฤๅษีโคดมซึ่งไม่ทราบความจริงก็คิดว่าเป็นลูกของตน ให้ชื่อว่า กากาศ

ต่อมาเมื่อคราวที่ฤๅษีออกจากอาศรมเข้าป่าไปอีกครั้ง กาลอัจนานั่งอยู่ชานอาศรมมองขึ้นไปเห็นพระอาทิตย์มีรูปร่างหน้าตางดงาม ผึ่งผายก็หลงรัก ฝ่ายพระอาทิตย์ซึ่งรู้ว่ากาลอัจนาหลงรักก็เหาะลงมาสมสู่ด้วย โดยไม่ทราบว่านางสวาหะแอบดูอยู่ภายนอก กาลอัจนาตั้งท้องกับพระอาทิตย์ ให้กำเนิดบุตรชายมีร่างกายสีแดง ฤๅษีโคดมซึ่งไม่ทราบความจริงก็คิดว่าเป็นลูกของตน ให้ชื่อว่า สุครีพ

ต่อมานางสวาหะน้อยใจที่ฤๅษีโคดมเอาใจใส่บุตรชายทั้งสองมากกว่าตน จึงตัดพ้อเชิงว่ารักลูกคนอื่นมากกว่าลูกตน ฤๅษีโคดมเกิดสงสัยขึ้น เสี่ยงอธิษฐานโยนบุตรทั้งสามลงไปในน้ำ ผู้ใดเป็นบุตรที่แท้ที่จริงขอให้สามารถว่ายน้ำกลับมาหาตนได้โดยปลอดภัย ผู้ใดไม่ใช่ขอให้กลายเป็นลิง ซึ่งมีแต่นางสวาหะว่ายกลับมาหา ส่วนกากาศและสุครีพกลายเป็นลิงวิ่งเข้าป่าอีกฝั่งหายไป

ครั้นกลับถึงอาศรม ฤๅษีโคดมเดือดดาลยิ่งนัก กล่าวผรุสวาทแก่กาลอัจนา แล้วสาปให้กลายเป็นหินไปเสียจนกว่าพระรามจะผ่านมาและถอนคำสาปให้กลายเป็นคน ดังเดิม คำสาปมีว่า
“ ...ทำการทรลักษณ์บัดสี ดังหญิงชั่วช้ากาลี ให้อินทรีย์ของมึงเป็นศิลา... (รามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1)”


ก่อนจะกลายร่างเป็นก้อนหินนั้น กาลอัจฉาเห็นว่านางสวาหะปากดี จึงสาปให้ไปยืนขาเดียวอ้าปากกินลมอยู่ที่เชิงเขาจักรวาล ต่อมาเมื่อพระรามและกองทัพผ่านมาบริเวณนี้ ก็ได้ถอนคำสาปให้กาลอัจฉากลายเป็นคนดังเดิม

๕.๒ นางอหลยา
อหลยา (สันสกฤต: अहल्या, Ahalyā; แปล: ผู้หญิงสมบูรณ์แบ

ด้วยพลังอำนาจแห่งเทพระดับพระอินทร์จึงใช้เวลาพริบตาเดียวในการดังกล่าว ในขณะที่มาขอรับอหลยาไปนั้น ฤๅษีนารทซึ่งนั่งอยู่ในที่ประชุมของพระพรหมด้วยท้วงว่า ความจริงแล้วยังมีมหาฤๅษีชื่อโคตมะ (เคาตม มหาฤษิ) เคยเดินทางไปตลอดสามโลกก่อนพระอินทร์เสียอีก สมควรมอบอหลยาให้แก่มหาฤๅษีโคตมะ พระพรหมเห็นชอบด้วยก็ดำเนินการตามนั้น

อหลยาซึ่งหลงใหลในความงามของพระอินทร์จึงผิดหวัง และลักลอบร่วมรักกับพระอินทร์อยู่สม่ำเสมอ กระทั่งครั้งหนึ่งมหาฤๅษีจับได้คาหนังคาเขา จึงสาปให้มีอวัยวะเพศหญิงผุดขึ้นเต็มร่างกายพระอินทร์ พระอินทร์จึงได้ชื่อว่า สหัสโยนี

ต่อมามหาฤๅษีโคตมะบรรเทาคำสาปให้อวัยวะเพศหญิงกลายเป็นดวงตาเสีย พระอินทร์จึงได้ชื่อว่า สหัสนัยน์ อันแปลว่า ผู้มีดวงตานับพัน

ที่มา  http://th.wikipedia.org/wiki/พระอินทร์
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

PRAMOTE(aaaa)

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 3598
  • ความศรัทธาคือเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: ประวัติ "ท้าวอมรินทร์เทวาธิราช" (พระอินทร์)
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มีนาคม 29, 2015, 10:07:28 pm »
0

ประวัติพระอินทร์
บันทึกการเข้า
การมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนธรรม เป็นเรื่องที่ดี
..เชื่อเรื่องการตรัสรู้ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
...และเชื่อในพระธรรมที่เป็นตัวแทนของพระศาสดา