อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท สหัสสวรรคที่ ๘
๑๒. เรื่องนางปฏาจารา
(ยกมาแสดงบางส่วน)
นางได้ตั้งความปรารถนาไว้ในชาติก่อน
ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระ นางปฏาจารานั้นเห็นพระเถรีผู้ทรงวินัยรูปหนึ่ง อันพระปทุมุตตรศาสดาทรงตั้งไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ ดังท้าวสักกะจับที่แขน ตั้งไว้ในสวนนันทวัน จึงทำคุณความดีแล้ว ตั้งความปรารถนาไว้ว่า
"แม้หม่อมฉันพึงได้ตำแหน่งเลิศกว่าพระเถรีผู้ทรงวินัยทั้งหลายในสำนักพระพุทธเจ้า เช่นกับด้วยพระองค์"
พระปทุมุตตรพุทธเจ้าทรงเล็งอนาคตังสญาณไป ก็ทรงทราบว่าความปรารถนาจะสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์ว่า
"ในอนาคตกาล หญิงผู้นี้จักเป็นผู้เลิศกว่าพระเถรีผู้ทรงวินัยทั้งหลาย มีนามว่าปฏาจารา ในศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า."
พระศาสดาทรงเห็นนางผู้มีความปรารถนาตั้งไว้แล้วอย่างนั้น ผู้สมบูรณ์ด้วยอภินิหาร กำลังเดินมาแต่ที่ไกลเทียว ทรงดำริว่า
"เว้นเราเสีย ผู้อื่นชื่อว่าสามารถจะเป็นที่พึ่งของหญิงผู้นี้ได้ ไม่มี" จึงได้ทรงทำนางโดยประการที่นางจะบ่ายหน้าสู่วิหารเดินมา.
บริษัทเห็นนางแล้วจึงกล่าวว่า "ท่านทั้งหลาย อย่าให้หญิงบ้านี้ มาที่นี้เลย."
พระศาสดาตรัสว่า "พวกท่านจงหลีกไป, อย่าห้ามเธอ" ในเวลานางมาใกล้ จึงตรัสว่า
"จงกลับได้สติเถิด น้องหญิง."
นางกลับได้สติด้วยพุทธานุภาพในขณะนั้นเอง.
ในเวลานั้น นางกำหนดความที่ผ้านุ่งหลุดได้แล้ว ให้เกิดหิริโอตตัปปะขึ้น จึงนั่งกระโหย่ง.
ลำดับนั้น บุรุษผู้หนึ่งจึงโยนผ้าห่มไปให้นาง. นางนุ่งผ้านั้นแล้ว เข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แทบพระบาททั้งสองซึ่งมีพรรณะดังทองคำแล้ว ทูลว่า
"ขอพระองค์จึงทรงเป็นที่พึ่งแก่หม่อมฉันเถิด พระเจ้าข้า, เพราะว่าเหยี่ยวเฉี่ยวบุตรคนหนึ่งของหม่อมฉันไป, คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป, สามีตายที่ทางเปลี่ยว, มารดาบิดาและพี่ชายถูกเรือนทับตาย เขาเผาบนเชิงตะกอนเดียวกัน."

พระศาสดาทรงสดับคำของนาง จึงตรัสว่า
"อย่าคิดเลย ปฏาจารา, เธอมาสู่สำนักของผู้สามารถจะเป็นที่พึ่งพำนักอาศัยของเธอได้แล้ว
เหมือนอย่างว่า บัดนี้ บุตรคนหนึ่งของเธอถูกเหยี่ยวเฉี่ยวไป, คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป, สามีตายแล้วที่ทางเปลี่ยว มารดาบิดาและพี่ชายถูกเรือนทับฉันใด น้ำตาที่ไหลออกของเธอผู้ร้องไห้อยู่ในสงสารนี้ ในเวลาที่ปิยชนมีบุตรเป็นต้นตาย ยังมากกว่าน้ำแห่งมหาสมุทรทั้ง ๔ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน"
ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
น้ำในสมุทรทั้ง ๔ มีประมาณน้อย, น้ำตาของคนผู้อันทุกข์
ถูกต้องแล้ว เศร้าโศก ไม่ใช่น้อย มากกว่าน้ำในมหาสมุทรนั้น;
เหตุไร เธอจึงประมาทอยู่เล่า? แม่น้อง.
เมื่อพระศาสดาตรัสอนมตัคคปริยายสูตรอยู่อย่างนั้น ความโศกในสรีระของนางได้ถึงความเบาบางแล้ว.
ลำดับนั้น พระศาสดาทรงทราบที่นางผู้มีความโศกเบาบางแล้ว ทรงเตือนอีก แล้วตรัสว่า
"ปฏาจารา ขึ้นชื่อว่าปิยชนมีบุตรเป็นต้น ไม่อาจเพื่อเป็นที่ต้านทาน เป็นที่พึ่ง หรือเป็นที่ป้องกันของผู้ไปสู่ปรโลกได้, เพราะฉะนั้น บุตรเป็นต้นเหล่านั้นถึงมีอยู่ ก็ชื่อว่าย่อมไม่มีทีเดียว ส่วนบัณฑิตชำระศีลแล้ว ควรชำระทางที่ยังสัตว์ให้ถึงนิพพานของตนเท่านั้น"
เมื่อจะทรงแสดงธรรม ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-
"บุตรทั้งหลาย ไม่มีเพื่อต้านทาน, บิดาก็ไม่มี
ถึงพวกพ้องก็ไม่มี, เมื่อบุคคลถูกความตาย ครอบงำแล้ว
ความต้านทานในญาติทั้งหลาย ย่อมไม่มี;
บัณฑิตทราบอำนาจประโยชน์นั้นแล้ว สำรวมในศีล
พึงชำระทางไปพระนิพพานโดยเร็วทีเดียว."
ในกาลจบเทศนา นางปฏาจาราเผากิเลสมีประมาณเท่าฝุ่นในแผ่นดินใหญ่แล้ว ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
ชนแม้เหล่าอื่นเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผล เป็นต้น ดังนี้แล.

นางปฏาจาราทูลขอบวช
ฝ่ายนางปฏาจารานั้นเป็นพระโสดาบันแล้ว ทูลขอบรรพชากะพระศาสดา.
พระศาสดาทรงส่งนางไปยังสำนักของพวกภิกษุณีให้บรรพชาแล้ว.
นางได้อุปสมบทแล้วปรากฏชื่อว่า "ปฏาจารา" เพราะนางกลับความประพฤติได้๑-.
____________________________
๑- บาลีว่า เพราะมีความประพฤติเว้นจากผืนผ้า ดังนี้ก็มี.
วันหนึ่ง นางกำลังเอาหม้อตักน้ำล้างเท้า เทน้ำลง น้ำนั้นไหลไปหน่อยหนึ่งแล้วก็ขาด.
ครั้งที่ ๒ น้ำที่นางเทลง ได้ไหลไปไกลกว่านั้น.
ครั้งที่ ๓ น้ำที่เทลง ได้ไหลไปไกลแม้กว่านั้น ด้วยประการฉะนี้.
นางถือเอาน้ำนั้นนั่นแลเป็นอารมณ์ กำหนดวัยทั้ง ๓ แล้ว คิดว่า
สัตว์เหล่านี้ ตายเสียในปฐมวัยก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งแรก,
ตายเสียในมัชฌิมวัยก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งที่ ๒ ไหลไปไกลกว่านั้น,
ตายเสียในปัจฉิมวัยก็มี เหมือนน้ำที่เราเทลงครั้งที่ ๓ ไหลไปไกลแม้กว่านั้น.
พระศาสดาประทับในพระคันธกุฎี ทรงแผ่พระรัศมีไปเป็นดังประทับยืนตรัสอยู่เฉพาะหน้าของนาง ตรัสว่า
"ปฏาจารา ข้อนั้นอย่างนั้น ด้วยว่าความเป็นอยู่วันเดียวก็ดี ขณะเดียวก็ดี ของผู้เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมแห่งปัญจขันธ์เหล่านั้น ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี ของผู้ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมแห่งปัญจขันธ์"
ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
๑๒. โย จ วสฺสสตํ ชีเว อปสฺสํ อุทยพฺพยํ
เอกาหํ ชีวิตํ เสยฺโย ปสฺสโต อุทยพฺพยํ.
ก็ผู้ใด ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมอยู่ พึงเป็นอยู่ ๑๐๐ ปี,
ความเป็นอยู่วันเดียว ของผู้เห็นความเกิดและความเสื่อม ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของผู้นั้น. 
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถา อปสฺสํ อุทยพฺพยํ ความว่า ไม่เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมอยู่ ด้วยลักษณะ ๒๕ แห่งปัญจขันธ์.
บาทพระคาถาว่า ปสฺสโต อุทยพฺพยํ ความว่า ความเป็นอยู่แม้วันเดียว ของผู้เห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมแห่งปัญจขันธ์เหล่านั้น ประเสริฐกว่าความเป็นอยู่ของบุคคลนอกนี้.
ในกาลจบเทศนา นางปฏาจาราบรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย ดังนี้แล.
เรื่องนางปฏาจารา จบ. อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=544&Z=586ที่มา
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=18&p=12ขอบคุณภาพจาก
http://www.igetweb.com,http://audio.palungjit.com/,http://palungjit.com/,http://mediacenter.mcu.ac.th/