ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ตำนานพระร่วง : "ขอมดำดิน" ที่สุโขทัย  (อ่าน 4745 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29290
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ตำนานพระร่วง : "ขอมดำดิน" ที่สุโขทัย
« เมื่อ: พฤษภาคม 07, 2016, 09:25:05 am »
0



วัดมหาธาตุเมืองสุโขทัย สถานที่ค้นพบก้อนศิลา “ขอมดำดิน” ตามที่เชื่อกันในตำนานพระร่วง



"ขอมดำดิน" ที่สุโขทัย

ที่วัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัยเก่า พบก้อนศิลาสีเขียวเรียกกันว่า ขอมดำดิน เพราะชาวบ้านเอาไปผูกกับนิทานเรื่องพระร่วงมีวาจาสิทธิ์ บอกให้ขอมที่ดำดินขึ้นมาแข็งเป็นหินไปได้ ทุกวันนี้รูปขอมดำดินถูกต่อยเอาไปใช้เป็นยารักษาโรคตามความเชื่อ จนเหลือเพียงก้อนหินขนาดเล็ก  เข้าใจว่าเดิมอาจเป็นประติมากรรมหินที่สร้างขึ้นโดยอิทธิพลศิลปะเขมร และคงถูกเคลื่อนย้ายไปมาในบริเวณเมืองเก่าสุโขทัยจนสุดท้ายนำมาไว้ยังวัดมหาธาตุ และกลายเป็นของศักดิ์สิทธิ์ไป

เรื่องขอมดำดินนี้ยังถูกนำมาสร้างเป็นฉากอยู่ในบทพระราชนิพนธ์เรื่อง พระร่วง ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวในภายหลังอีกด้วย


 :96: :96: :96: :96:

หลักฐานโบราณคดีบ่งให้เห็นชัดเจนว่าบริเวณเมืองสุโขทัยเคยมีอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรมาก่อนตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16-18 คือ ปราสาทเขาปู่จ่า อ.คีรีมาศ,ศาลตาผาแดง และวัดพระพายหลวงที่เมืองสุโขทัย ทั้งนี้ข้อมูลจากจารึกยังช่วยเชื่อมโยงให้เห็นความสำคัญของ ขอม ที่ปรากฏขึ้นที่สุโขทัยด้วย

จารึกสุโขทัยหลักที่ ๒ (วัดศรีชุม) ออกชื่อ ขอมสบาดโขลญลำพง ที่ปกครองเมืองสุโขทัยอยู่ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๙ และถูกพ่อขุนผาเมืองกับพ่อขุนบางกลางหาวมาช่วยกันรบชิงเมืองไว้ได้ในอำนาจแทน ขอมสบาดโขลญลำพง นี้คงเป็นชื่อของบุคคลที่มีอำนาจเกี่ยวพันโดยตรงกับ ขอม-เขมร ที่อยู่ที่เมืองลพบุรีทางภาคกลางและเมืองพระนครหลวงในกัมพูชาด้วย ในฐานะผู้เก็บรวบรวมทรัพยากรจากดินแดนแคว้นสุโขทัยโบราณลงไปยังศูนย์กลางที่เมืองพระนครหลวง

กลุ่มของพ่อขุนผาเมืองและพ่อขุนบางกลางหาวคือกลุ่มคนพูดภาษาตระกูลไท-ลาว เป็นหลัก การบันทึกถึงขอมสบาดโขลญลำพงในจารึกสุโขทัย จึงน่าจะเน้นความเป็นกลุ่มคนที่มีลักษณะบางประการแตกต่างไปจากตน  ดังนั้น ขอม ในที่นี้จึงหมายถึง กลุ่มคนที่เกี่ยวพันกับเขมรโบราณ ใช้ภาษาตระกูลมอญ-เขมร อันมีวัฒนธรรมเกี่ยวข้องกับทางลพบุรีและกัมพูชา


ขอมดำดิน เป็นก้อนหินสีเขียว ที่เหลืออยู่เล็กน้อยเพราะชาวบ้านต่อยเอาไปฝนเข้าตัวยารักษาโรคตามความเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ ปัจจุบันเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ รามคำแหง

จารึกหลักที่ ๒ เป็นการเท้าความเหตุการณ์ในยุคต้นสุโขทัย ซึ่งยังปรากฏความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนดั้งเดิม(ขอม = มอญ-เขมร) กับกลุ่มคนที่เข้ามาใหม่(ไท-ลาว) กลุ่มแรกเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อส่งทรัพยากรจากพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน-ล่าง ลงไปสู่เมืองพระนครหลวงกัมพูชา ในขณะที่กลุ่มหลังค่อยๆเคลื่อนตัวจากลุ่มแม่น้ำโขงลงมายังที่ราบภาคกลางของไทย

เรื่องพระร่วงส่วยน้ำที่คุมกองเกวียนชะลอมบรรทุกน้ำไปส่งที่เมืองนครธม จนพระปทุมสุริยวงศ์ทรงระแวงว่า พระร่วงเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ อาจตั้งตัวเป็นใหญ่ในภายหลัง จึงส่งพระยาเดโช “ขอมดำดิน” ไปยังเมืองสุโขทัยเพื่อกำจัดเสีย แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อวาจาสิทธิ์ของพระร่วงนี้ ก็น่าจะเป็นเหตุการณ์ที่ตกหลงเหลือมาในรูปของนิทานตำนาน  เปรียบได้กับภาพของการส่งทรัพยากรจากดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยาไปยังเมืองพระนครหลวงโดยผู้ปกครองดั้งเดิมที่เกี่ยวข้องกับลพบุรี-กัมพูชา และเกิดความขัดแย้งกับกลุ่มผู้ปกครองระดับท้องถิ่น จนลุกลามเป็นสงครามขึ้น และท้ายที่สุด ผู้ได้รับอำนาจมาแทนที่คือบรรพบุรุษของราชวงศ์สุโขทัย-พระร่วงนั่นเอง


ประติมากรรมรูปบุคคล ศิลปะเขมร พบที่วัดพระพายหลวงซึ่งเป็นหลักฐานของศิลปะเขมรก่อน พ.ศ.1800 ในเมืองสุโขทัย


สุวรรณภูมิสโมสร/ศุกร์ที่ 7 ธันวาคม 2555
“ขอมดำดิน” ที่สุโขทัย โดย ประภัสสร์ ชูวิเชียร
http://www.sujitwongthes.com/suvarnabhumi/2012/12/07122555/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29290
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
พระร่วงกับขอมดำดิน วัดตระพังทอง


พระร่วงและขอมดำดิน ที่วัดตระพังทอง ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย

ขอมดำดิน อีกสำนวนหนึ่งของตำนานวีรบุรุษในพงศาวดารเหนือ และในนิทานชาวบ้านแถบสุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก ตาก อุตรดิตถ์ ที่นิยมหยิบยกมาเล่าขานทั้งในฐานะผู้นำทางวัฒนธรรม วีรบุรุษผู้มีตัวตนจริงตามประวัติศาสตร์ สัญลักษณ์ของผู้รู้ และความเป็นปราชญ์

ตอนที่หยิบยกมานี้ คัดลอกมาจากหนังสือ “๕๐ นิทานไทย” โดย ธนากิต
 
อดีตกาลนานนับพันปีเศษล่วงมาแล้ว ณ กรุงอินทปัด อันมีพระเจ้าอุทัยราช เป็นผู้ปกครอง พระองค์มีพระมเหสี ซึ่งเป็นเชื้อสายของพวกนาค จึงมีนามเรียกกันว่า พระนางนาค วันหนึ่งเมื่อพระเจ้าอุทัยราชพาพระมเหสีซึ่งกำลังมีพระครรภ์แก่ใกล้คลอดเสด็จประพาส ณ หาดทราย เมืองอัมราพิรุณบูรณ์ พระมเหสีก็ประสูติโอรสออกมาเป็นฟองไข่ พระเจ้าอุทัยราชไม่ทราบชาติกำเนิดเดิมของพระมเหสี จึงเกรงว่าฟองไข่นี้อาจจะเป็นเสนียดจัญไรและเกิดความอัปมงคลแก่บ้านเมือง จึงให้ทิ้งไป ก่อนที่จะตามเสด็จพระสวามีกลับกรุงอินทปัด พระนางนาคสั่งให้คนสนิทนำฟองไข่ไปฝังทรายไว้

กล่าวถึง กรุงละโว้ ซึ่งในเวลานั้นไม่มีเจ้าเมืองครอบครอง นายคงเครา ซึ่งเป็นนายกองส่งน้ำ ทำหน้าที่รักษาการแทนอยู่ ขณะนั้นเมืองละโว้ขึ้นอยู่ในอำนาจของพวกขอม ต้องส่งส่วยเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์จากทะเลชุบศร เป็นประจำทุก ๓ ปี ขากลับที่คุมไพร่พลขนน้ำไปถวายพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ (พระเจ้าพันธุมสุริยวงศ์ หรือ พระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒) ณ เมืองขอม ขณะขบวนเกวียนของนายคงเคราผ่านเมืองอัมราพิรุณบูรณ์เห็นมีฟองไข่ขนาดใหญ่ผุดขึ้นบนหาดทราย นายคงเคราจึงเก็บเอาไปยังเมืองละโว้ด้วย แล้วหาแม่ไก่ให้มาช่วยฟักตัวละหนึ่งเดือน พอครบสิบเดือนไข่นั้นก็แตกออก ภายในมีเด็กผู้ชายน่าตาน่ารักน่าเอ็นดู นายคงเคราจึงให้ชื่อว่า ร่วงและเลี้ยงไว้เป็นบุตรบุญธรรม


พระร่วงกับขอมดำดิน วัดตระพังทอง

เมื่อโตขึ้นอายุได้ ๑๑ ปี ร่วงจึงรู้ว่าตนมีวาจาสิทธิ์ ด้วยเหตุที่วันหนึ่งได้พายเรือเล่นในทุ่งพรหมมาศ (บางตำราว่าพายเล่นในทะเลชุบศร) พายเรือตามน้ำไปได้สักพักก็คิดจะกลับแต่ต้องพายทวนน้ำ รู้สึกเหน็ดเหนื่อยจึงพูดเปรยๆ ออกมาว่า “ทำไมน้ำไม่ไหลกลับไปทางเรือนเราบ้าง” ทันใดนั้นน้ำในทุ่งพรหมมาศก็เปลี่ยนทิศไหลพาเรือกลับอย่างที่ตนพูด ร่วงได้เก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับไม่ยอมบอกให้ใครทราบ

อยู่ต่อมานายคงเคราถึงแก่กรรม บรรดาไพร่พลทั้งปวงจึงยกให้นายร่วงเป็นนายกองส่งน้ำแทน ครั้นครบกำหนด นักคุ้มข้าหลวงจากเมืองขอมได้คุมกองเกวียน ๕๐ เล่ม พร้อมไพร่พล ๑,๐๐๐ คน มาบรรทุกน้ำศักดิ์สิทธิ์จากทะเลชุบศร เพื่อนำไปประกอบพิธี เมื่อมาถึงเมืองละโว้ได้ทราบข่าวนายคงเคราเสียชีวิตแล้ว จึงให้คนไปตามนายร่วงซึ่งทำหน้าที่แทนมาพบ นายร่วงจึงบอกกับนักคุ้มว่าท่านเอาโอ่งเอาไหที่ทำด้วยดินมาใส่น้ำอย่างนี้หนักเปล่าๆ จงช่วยกันสานชะลอมใส่น้ำไปเถิด เราจะสั่งน้ำมิให้ไหลออกมาเอง

นักคุ้มเห็นนายร่วงรับรองแข็งขันว่าสามารถทำได้ ก็สั่งไพร่พลให้ช่วยกันสานชะลอมใส่เกวียนเล่มละ ๒๕ ใบ ซึ่งเมื่อนำชะลอมทุกใบไปตักน้ำตั้งบนเกวียน ปรากฏว่าไม่มีน้ำไหลรั่วออกมาเลยแม้แต่ใบเดียว นักคุ้มรู้สึกเกรงอำนาจวาจาสิทธิ์ของนายร่วงจึงรีบนำขบวนเกวียนเดินทางกลับเมืองขอม ระหว่างทางถึงด่านแห่งหนึ่งนักคุ้มเกิดแคลงใจว่าถูกนายร่วงหลอกให้ขนชะลอมเปล่าไปเมืองตนเอง พอนึกดังนั้นครั้นหันไปมองน้ำในชะลอมก็กลับไหลออกมาให้เห็น นักคุ้มจึงสรรเสริญนายร่วงว่าเก่งกล้าสามารถนัก และให้จารึกเรื่องราวไว้เป็นสำคัญ ณ ที่แห่งนั้นจึงได้ชื่อว่า ด่านพระจารึก

 



ครั้นเดินทางต่อมาจนถึงเมืองตึกโช ชาวเมืองพอทราบข่าวก็เล่าลือเรื่องที่นักคุ้มนำชะลอมใส่น้ำบรรทุกมา เจ้าเมืองขอมทราบจึงเรียกไปสอบถาม นักคุ้มก็เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟังอย่างละเอียด พร้อมทั้งยกชะลอมใบที่ยังมีน้ำขังอยู่เทลงในพะเนียงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่เจ้าเมืองและเหล่าข้าราชบริพารโดยทั่วหน้ากัน เจ้าเมืองขอมตกพระทัยตรัสว่า บัดนี้ผู้มีบุญมาเกิด ณ เมืองละโว้แล้วควรจะรีบยกกองทัพไปจับตัวมาสังหารเสียดีกว่า

นายร่วงรู้ข่าวว่า ทหารขอมยกกองทัพมาจับตัวก็หนีออกจากเมืองละโว้ขึ้นไปทางเหนือ และได้หลบอยู่ริมวัดแห่งหนึ่ง ณ บ้านบางคลาน เขตเมืองพิจิตร ได้รับความอดอยากถึงกับต้องขออาหารชาวบ้านกิน ผู้ที่มีจิตเมตตาได้นำข้าวและปลาหมอตัวหนึ่งมาให้ นายร่วงกินเนื้อปลาทั้งสองข้างหมดแล้วก็โยนก้างลงไปในสระและสั่งว่า “เจ้าจงมีชีวิตขึ้นมาเถิด” พลันปลาซึ่งไม่มีเนื้อมีแต่ก้างนั้นก็กลับมีชีวิตขึ้นมาแหวกว่ายอยู่ในน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า ปลาก้าง ต่อมาจึงเดินทางไปถึงเขตแขวงเมืองเชลียง นายร่วงจึงหยุดพักและรู้สึกปวดท้องถ่าย จึงนั่งถ่ายที่ข้างป่า เสร็จแล้วได้หักกิ่งไม้แห้งมาชำระและโยนทิ้ง พร้อมกับสั่งว่า “จงงอกขึ้นมาเถิด” พลันไม้นั้นก็งอกขึ้นมาเป็นต้น ซึ่งมีกลิ่นเหมือนอาจม ชาวบ้านเรียกว่า ไม้ชำระพระร่วง

นายร่วงพเนจรหลบหนีพวกทหารขอมอยู่เป็นเวลาหลายปี จนเมื่ออายุครบบวชจึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดในเมืองสุโขทัย ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า พระร่วง นับแต่นั้นมา วันหนึ่งนายทหารขอมซึ่งทราบข่าวได้ติดตามมา ครั้นถึงวัดที่พระร่วงจำพรรษาอยู่ได้ใช้ฤทธิ์ดำดินลอดกำแพงวัดเข้าไป เห็นพระร่วงกำลังกวาดลานวัดอยู่แต่ไม่รู้จัก

      จึงถามว่า “พระร่วงที่มาจากเมืองละโว้อยู่ที่ไหน”
      พระร่วงจึงสอบถามจนรู้ว่า เป็นนายทหารขอมที่ตามมาจับตนจึงบอกว่า “เจ้าจงอยู่ที่นี่แหละอย่าไปไหนเลย จะไปตามพระร่วงให้”
      ด้วยฤทธิ์วาจาสิทธิ์ของพระร่วง ร่างของขอมดำดินผู้นั้นก็แข็งกลายเป็นหินติดคาแผ่นดินอยู่ตรงนั้น
      ต่อมาเมื่อเจ้าเมืองสุโขทัยสวรรคต และชาวเมืองรู้ว่าพระร่วงเป็นผู้มีบุญ จึงพร้อมใจกันขอให้พระร่วงลาสิกขาบท แล้วอัญเชิญขึ้นเป็นเจ้าเมือง นับตั้งแต่พระร่วงครองราชสมบัติปกครองเมืองสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองนับแต่นั้นมา





ตำนานเกี่ยวกับขอมดำดินหรือวาจาสิทธิ์พระร่วงนั้นมีแตกต่างกันไปหลายนัย บางตำนานบอกว่าขอมดำดินนั้นได้อาสาเจ้าเมืองขอมมาตามจับพระร่วงตามลำพังตั้งแต่แรก ไม่ใช่ทหารขอมยกมาเป็นกองทัพอย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น และมีผู้สันนิษฐานว่า นายร่วงคงจะใช้ชันสำหรับยาเรือยาหรือทาชะลอมน้ำจึงไม่ไหลออกมา แต่อีกตำนานหนึ่งบอกว่า พระร่วงเป็นลูกของเจ้าเมืองและมีน้องชายชื่อว่า ลือ ดังนี้

ณ เมืองศรีสัตชนาลัย เจ้าเมืองมีลูกชายชื่อว่า ร่วง เมื่อเห็นว่าลูกของตนไม่มีเพื่อนเล่น พ่อจึงไปขอเพื่อนเล่นให้ลูกที่ศาลเทพารักษ์แห่งหนึ่ง รุ่งเช้าปรากฏว่ามีไม้แกะเป็นรูปเด็กวางไว้ที่ศาล ตกกลางคืนพอเดือนตกแล้วพ่อของร่วงซึ่งกลับไปที่ศาลอีกครั้งได้ยินเสียงเด็กไม้พูดทักทาย จึงดีใจนำมาเป็นเพื่อนเล่นกับลูก โดยตั้งชื่อให้ว่า ลือ

ต่อมาในวันมาฆบูชา พ่อได้ถามร่วงและลือว่าลูกทั้งสองต้องการจะสร้างอะไรในศาสนาบ้าง ร่วงและลือจึงบอกพ่อว่าจะสร้างเจดีย์ พ่อจึงให้ช่างสร้างเจดีย์ขึ้นสององค์ ซึ่งเจดีย์ของร่วงแต่แรกนั้นสวยกว่าของลือ ลือจึงให้สร้างเจดีย์ของตนสูงกว่าของร่วง ร่วงเห็นเข้าไม่พอใจจึงเตะยอดเจดีย์ของลือหักกระเด็นไปตกที่จังหวัดลพบุรี (กลายเป็นยอดเจดีย์หักในจังหวัดลพบุรี ส่วนเจดีย์ของร่วงกับลือยังอยู่ในจังหวัดสุโขทัย)



วัดตระพังทอง ตั้งอยู่บนเกาะกลางตระพังทอง หนึ่งในสี่สระ หรือตระพังน้ำขนาดใหญ่ ของเมืองสุโขทัย คือตระพังเงิน ตระพังสระศรี (ตระพังตระกวน) ตระพังสอ และตระพังทอง ซึ่งเป็นแหล่งเก็บน้ำสำคัญ โดยได้รับน้ำจากน้ำฝนและแหล่งเก็บน้ำ เขื่อนสรีดภงส์ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้(หรดี)ของตัวเมือง กลางตระพังมีลักษณะเป็นเนินคันหรือเกาะขนาดย่อย มีอาคารพุทธศาสนสถานตั้งอยู่ทั้งสี่แห่ง ที่เกาะกลางตระพังเงินเป็นโบสถ์กลางตระพัง ที่ตระพังสระศรีมีเจดีย์วิหารและโบสถ์ ที่เกาะตระพังสอมีศาลาโถง ด้านหน้าศาลาเป็นเจดีย์ ขนาดเล็ก ๑ องค์ ด้านหลังเป็นเจดีย์ขนาดใกล้เคียงกัน ๓ องค์ ส่วนที่เกาะกลางตระพังทอง มีเจดีย์ วิหาร และโบสถ์



วันหนึ่งร่วงเก็บมะขามเทศใส่ย่ามเดินกินทิ้งเมล็ดไปตลอดทางในระยะสี่กิโลเมตร ต่อมาเกิดเป็นต้นมะขามเทศงอกและโตขึ้น ณ สองฟากถนนและมีช่องว่างเป็นทางสำหรับเล่นว่าว พ่อจึงทำว่าวจุฬาให้ร่วงและทำว่าวปักเป้าให้ลือ ว่าวของร่วงมักจะตกอยู่เสมอ ร่วงพูดขึ้นว่าขอให้ว่าวของลือสายขาดซึ่งก็เป็นไปตามนั้น ร่วงจึงให้ลือมาเป็นคนคอยส่งว่าวให้

ต่อมาร่วงได้ท้าแข่งกับคนต่างอำเภอและต้องรอคู่แข่งอยู่จนเย็น ขณะทำการแข่งขัน ร่วงวิ่งสะดุดหินล้มลง เข่าทั้งสองข้างจึงกระแทกพื้นดินอย่างแรงเกิดเป็นรอยดินยุบลงไปเป็นรูปวงกลมสองบ่อ ร่วงจึงบอกว่าขอให้บ่อทั้งสองนี้จงมีน้ำซึมอยู่ตลอดปี แม้จะมีคนมาตักก็ไม่แห้ง ชาวสุโขทัยจึงถือกันว่าเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์

หลังจากเลิกแข่งว่าว ร่วงกับลือก็เดินทางกลับบ้าน พอดีพบพ่อค้าปลา ร่วงหิวข้าวจึงขอปลามาปิ้งกิน พ่อค้าบอกว่าจะเอาปลาไปเลี้ยง ร่วงว่าขอแต่เนื้อเท่านั้น ส่วนตัวปลาจะเอาไปเลี้ยงก็ตามใจเถิด แล้วเอามีดเหลาโครงว่าวปาดแก้มปลาจนถึงหางทั้งสองข้าง ส่วนหัวกับก้างนั้นโยนลงไปในบ่อน้ำที่อยู่ใกล้ๆ นั้น พร้อมสั่งให้ปลามีชีวิตขึ้นมา กลายเป็นปลาก้างตามที่เล่ามาในตอนต้น พ่อค้าสอบถามรู้ว่าเป็นผู้มีบุญก็ยกปลาให้กินทั้งหมด ร่วงกินอิ่มแล้วจึงคืนให้พ่อค้าปลาไปหนึ่งกระป๋อง และสั่งว่าเมื่อกลับถึงบ้านค่อยเปิดออกดูจะได้ของดีเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ครั้นถึงบ้านเมื่อพ่อค้าปลาเปิดกระป๋องออกดูก็เห็นมีทองคำอยู่เต็มกระป๋อง จึงนำเรื่องนี้ไปบอกกับเพื่อนบ้าน ชาวบ้านจึงต่างออกตามหาร่วงแต่ก็ไม่พบ

ต่อมาได้มีการประกาศค้นหาผู้มีบุญให้เป็นเจ้าเมืองครองกรุงสุโขทัย ร่วงจึงได้รับคัดเลือกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า “พระร่วง” แต่บางตำนานเรียกพระนามว่า พระเจ้าศรีจันทราธิบดี


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก
http://www.traphangthong.org/index.php?lay=show&ac=article&Id=538820931
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 07, 2016, 10:04:28 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

PRAMOTE(aaaa)

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 3598
  • ความศรัทธาคือเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: ตำนานพระร่วง : "ขอมดำดิน" ที่สุโขทัย
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤษภาคม 07, 2016, 02:31:23 pm »
0

     ขอมดำดินมาโผล่หมายปองร้ายพระร่วง

    พระร่วง...กวาดลานวัดอยู่

   ถามว่า....พระร่วงอยู่ใหม

ถามโดนเจ้าตัวเข้าพอดี พระร่วงตอบว่า...งั้นเจ้ารออยู่ตรงนั้นก่อน

ขอมคนนั้นเลยกลายเป็นหิน...ไปเลย แค่พระร่วงพูดแค่นั้นเพราะท่าน...ได้วาจาสิทธิ์

       

      ว่ากันว่า..พระร่วง ท่านได้เรียนกรรมฐาน มัชฌิมา แบบลำดับ กับครูบาอาจารย์กรรมฐานในถ้ำอยู่ระยะหนึ่ง

แต่ครูอาจารย์ท่านให้อะไรได้ไม่มาก เพราะท่านต้องครองเมือง คือต้องใช้ชีวิตทางโลก


    เล่าพอเป็นกระสัย


จาก...ตำนานพระกรรมฐาน


   www.somdechsuk.org


บันทึกการเข้า
การมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนธรรม เป็นเรื่องที่ดี
..เชื่อเรื่องการตรัสรู้ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
...และเชื่อในพระธรรมที่เป็นตัวแทนของพระศาสดา