« เมื่อ: มกราคม 24, 2025, 04:04:45 pm »
0
.
วิเคราะห์มันตระ “โอม มณี ปัทเม หูม” : พระพุทธศาสนาหรือไสยศาสตร์พระเทพวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. อธิการบดี มจร
กำเนิดและลักษณะเชิงจักรวาลแหงพยางค์ศักดิ์สิทธิ์ “โอม” : มรรคาแห่งสากลภาวะ (The Path of Universality)
มันตระของตันตระได้รับอิทธิพลโดยตรงจากพราหมณ์ยุคอุปนิษัท คำว่า “โอม”(OM, หรือ AUM) ประกอบด้วยอักษร ๓ ตัว คือ “อ-A, อุ-U, ม-M”
“อ-A” คือ พระพรหมผู้สร้าง
“อุ-U” คือ พระวิษณุผู้รักษา
“ม-M” คือ พระศิวะผู้ทำลาย
พราหมณ์ทุกคนตื่นขึ้นมาตอนเช้าต้องกล่าวคำว่า “โอม” เพื่อจุดประสงค์ ๒ อย่าง คือ นอบน้อมตรีมูรติ ซึ่งเป็นธรรมชาติสูงสุด และสร้างความสมบูรณ์สูงสุดให้เกิดมีขึ้นในตัวเอง
ความสำคัญของพยางค์ “โอม” เห็นได้จากข้อความต่อไปนี้
แก่นของสรรพสิ่งคือ ดิน
แก่นของดินคือ น้ำ โอม
แก่นของน้ำคือ พืช สามเวท
แก่นของพืชคือ มนุษย์ ฤคเวท
แก่นของมนุษย์คือ คำพูด วจนะ
แก่นของคำพูดคือ ฤคเวท มนุษย์
แก่นของฤคเวทคือ สามเวท พืช
แก่นของสามเวทคือ อุทคีตะ(ซึ่งก็คือ โอม) น้ำ
อุทคีตะคือ สุดยอดของแก่นทั้งมวล นับเป็นแก่นสูงสุด ดิน
สมควรได้รับฐานะสูงสุด คือ ฐานะที่ ๘ สรรพสิ่ง สรรพสิ่ง
ดินและน้ำรวมเป็นหนึ่งถ่ายพลังไปสู่พืช จากพืชไปสู่มนุษย์ พลังมนุษย์ถูกรวมไปอยู่ที่จิตและถ่ายทอดออกมาในรูปของคำพูด ซึ่งทำให้มนุษย์แตกต่างจากสรรพสัตว์ “โอม”คือ พีชะ-มันตระของจักรวาล เป็นพลังจักรวาลแห่งจิตที่ครอบคลุมทุกสิ่ง เป็นเครื่องมือก้าวไปสู่ความหลุดพ้น เหมือนแมลงมุมขยุ้มไต่ไปตามข่ายใยของตน เพื่อไปสู่ความเป็นอิสระ
มันตระ “โอม มณี ปัทเม หูม” ๖ พยางค์นี้ ชื่อว่า “มหามันตระ” เพราะมีภาวะครอบคลุมทุกมิติแห่งจักรวาล และเป็นมันตระประจำพระอวโลกิเตศวร ผู้ประสงค์จะเรียนสาระจากพระอวโลกิเตศวรโดยตรง ต้องได้รับอภิเษก(บรรพชา)เข้าไปอยู่ในมณฑล
ความศักดิ์สิทธิ์ของมันตระนี้ ประกอบอยู่ในแต่ละพยางค์ กล่าวคือ
“โอม” แสดงถึงพระอมิตาภะในรูปของธรรมกาย
“มณี” แสดงพระพระมิตาภะในรูปของพระอมิตายุส
“ปัทมะ” แสดงถึงพระอมิตาภะในรูปของสัมโภคกาย
“หูม” แสดงถึงพระอวโลกิเตศวรเองได้วัชรกาย ซึ่งเป็นองค์รวมแห่งภาวะทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม
@@@@@@@
จักรวาลวิถีกับการสร้างคุณค่าใหม่แก่พยางค์ศักดิ์สิทธิ์ “โอม”
จักรวาลวิถีแยกไม่ออกจากปัจเจกวิถี มนุษย์จะมีเจตนาเชื่อมโยงตนกับจักรวาลหรือไม่ก็ตาม สายสัมพันธ์ก็ยังเชื่อมโยงอยู่อย่างนั้น ความรุ่งเรืองของปัจเจกชนย่อมขึ้นอยู่กับเจตนาเชื่อมโยงตนกับจักรวาล
“โอม” ไม่ใช่สิ่งสูงสุดในพระพุทธศาสนา แต่เป็นพื้นฐาน อยู่ในฐานะเป็นจุดเริ่มต้นในโพธิสัตตวมรรคา กล่าวคือ อยู่ในจุดเริ่มต้นของเกือบจะทุกมันตระ ทุกรูปแบบของการบูชากรรมฐานทุกประเภท พุทธวิถีเริ่มต้นที่ “โอม” แต่ไม่ได้สิ้นสุดที่นี่ “โอม”เป็นจุดที่อุปนิษัทสิ้นสุด
การเจริญวิปัสสนากรรมฐานในพระพุทธศาสนาเถรวาท คือ การเพ่งพิจารณากระบวนการทำงานของรูปนาม เป็นเรื่องภายในตัวตน เพ่งเข้าด้านใน “โอม” มีสายสัมพันธ์โดยตรงกับร่างกายของมนุษย์
“อ(A)” คือ ส่วนหัวทั้งหมดมาถึงลำคอ
“อุ(U)” คือ ส่วนลำตัวทั้งหมดถึงบริเวณสะดือ
“ม(M)” คือ ส่วนตั้งแต่ใต้สะดือลงไป
ถามว่า “วัตถุประสงค์ของการเปล่งพยางค์ โอม คืออะไร.?”
“อะไร คือ ผลที่เกิดจากการเปล่งพยางค์ โอม.?”
วัตถุประสงค์ของการเจริญวิปัสสนาที่นำเอาสติปัฏฐาน ๔ มาเป็นกรอบ ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจในกระบวนการทำงานของรูปนาม ผลที่เกิดขึ้นคือ การรู้เท่าทันผลอันเกิดจากกระบวนการทำงานของรูปนาม แต่วัตถุประสงค์ของการเปล่งพยางค์ “โอม” มี ๒ ส่วน
๑. กระตุ้นประสาทแต่ละส่วนในร่างกายให้ทำงานประสานกัน เพื่อผลในขั้นต่อไปคือ เอกภาพ ความแน่วแน่รวมเป็นหนึ่งของประสาทแต่ละส่วน สามารถนำไปเชื่อมโยงกับพลังสูงสุด (นั่นคือ ตรีมูรติในทรรศนะของพราหมณ์)
๒. กระตุ้นประสาทแต่ละส่วนให้ทำงานอยู่เสมอ เพื่อให้ปรากฏภาพชัดเจน ทำให้โยคีกำหนดพิจารณากระบวนการทำงานของประสาทได้ง่าย
ผลที่เกิดขึ้นจากการเปล่งพยางค์ โอม คือ ความประสานกลมกลืนของประสาทแต่ละส่วน และโยคีจะรู้สึกได้เกี่ยวกับกระบวนการทำงานของประสาทตลอดเวลา การสร้างคุณค่าใหม่แก่พยางค์ “โอม” คือ การเปิดมิติแห่งปัจเจกชน รับมิติแห่งจักรวาล คุณค่าใหม่อยู่ที่การเชื่อมติดกันระหว่างมิติแห่งปัจเจกชนกับมิติแห่งจักรวาล
@@@@@@@
ความหมายและความสำคัญของพยางค์ศักดิ์สิทธิ์ “มณี” : มรรคาแห่งสหภาวะและอัชฌัตติกสมบัติ
“มณี” คือ แก้วมณี, มุ่งถึงเพชร ซึ่งหมายถึง ภาวะแห่งปัญญาที่กล้าแกร่ง อันเกิดจากพลังจิต หรือเป็นสัญลักษณ์แห่งพลังจิตสูงส่ง พระพุทธศาสนามหายานในอินเดียใช้คำนี้ แทนพระสูตรมหายานกลุ่มปรัชญาปารมิตา “ความรู้กล้าแกร่งดังเพชร ตัดทำลายกิเลสให้สูญสิ้น”
“มณี” หรือวัชระ ในที่นี้ มุ่งถึงวิญญาณขันธ์ ในส่วนที่เป็นมนัส(หรือกลิษฏมโนวิชญาณ หรือกิลิฏฐมโนวิญญาณ) การเปล่งพยางค์ “มณี” คือ การกระตุ้นกระบวนการทำงานของมนัสระหว่างโลกแห่งปรากฏการณ์กับโลกแห่งจิต แสดงภาพออกมาเป็น “คทาเพชร” ๓ ส่วน ซึ่งหมายถึง
(๑) โลกแห่งปรากฏการณ์
(๒) โลกของมนัสเอง
(๓) โลกแห่งจิต(อาลยวิชญาณ)
ส่วนที่ ๓ อยู่ตรงกลาง หมายถึง “พีชะ” หรือเชื้อแห่งจักรวาล เป็นรูปจุดหรือหยดเล็กมีภาพขดก้นหอย แสดงถึงพลังที่ออกมาจากอายตนะซึ่งอยู่ตรงกลางนี้ จากส่วนที่ ๓ นี้ทำให้เกิดส่วนที่ ๑ และ ๒ อยู่ในขั้วทั้ง ๒ เป็นรูปดอกบัวบาน หมายถึง ขั้วของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด จากจุดนี้ อวกาศถือกำเนิดขึ้น กล่าวคือ โลกทั้ง ๓ ทิศ ทั้ง ๔ มีขุนเขาสุเมรุ(สิเนรุ)เป็นแกนกลาง
การแผ่ขยายพื้นที่ออกไปนี้ แสดงถึงขันธ์ ๕ ที่เป็นองค์ประกอบของชีวิต แต่ละขันธ์มีส่วนในการตรัสรู้เหมือนกันทั้งหมด เพราะแต่ละขันธ์มีพระธยานีพุทธะ(ฌานีพุทธะ)ประจำอยู่ในพระธยานีพุทธะแต่ละองค์ โพธิจิตย่อมแตกต่างกัน เหมือนกับรังษีที่แผ่ออกจากวัตถุรูปทรง ๕ เหลี่ยม
ความหมายและความสำคัญของพยางค์ศักดิ์สิทธิ์ “ปัทมะ”
“ปัทมะ” แปลว่า ดอกบัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความเบ่งบานแห่งจิต และความบริสุทธิ์ที่คงทนอยู่ในท่ามกลางความไม่บริสุทธิ์ เจ้าชายสิทธัตถะเมื่อแรกประสูติ เสด็จดำเนิน ๗ ก้าว มีดอกบัว ๗ ดอกผุดขึ้นรองรับพระบาท แสดงถึงความบริสุทธิ์ภายในองค์ของเจ้าชายเองและความบริสุทธิ์ของโลกที่อยู่รวมกันกับสิ่งที่ไม่บริสุทธิ์ทั้งหลาย
พระธยานีพุทธะ(ฌานีพุทธะ) นั่งเข้าฌานบนดอกบัวที่เบ่งบานเต็มที่ แสดงถึงการเปิดจิต (จิตตสส วินีวรณ) รับโลกภายนอก หันหน้าเข้าสู้สถานการณ์ของโลก นัยดั้งเดิมของสัญลักษณ์ดอกบัว คือ ดอกบัวเกิดจากโคลนตมผุดขึ้นสู่พื้นผิวน้ำ แย้มบานเมื่อขึ้นอยู่เหนือผิวน้ำแล้ว และเมื่อแย้มบานแล้ว ก็ยังคงไม่แปดเปื้อนด้วยดินและน้ำ
จิตก็เหมือนกัน เกิดในร่างกายมนุษย์ แสดงคุณสมบัติแท้จริงของจิตออกมา เมื่ออยู่เหนือกิเลสและอวิชชาแล้ว และเปลี่ยนพลังฝ่ายมืดให้เข้าไปสู่ส่วนลึกของพลังบริสุทธิ์แห่งโพธิจิต กล่าวคือ แก้วมณีที่ประมาณมิได้ ปรากฏอยู่ในดอกบัว พระอริยะแม้จะอยู่เหนือโลกและก้าวพ้นไปจากโลก แต่รากฐานของท่านยังคงประดิษฐานในพื้นโลก
เชื้อแห่งโพธิญาณปรากฏอยู่ในโลกนี้ตลอดเวลา พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติในอดีตฉันใด ในปัจจุบันก็จะเสด็จอุบัติฉันนั้น แม้ในอนาคตก็จะเสด็จอุบัติอย่างนั้น พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในประวัติศาสตร์แห่งมนุษยชาติ ต่างมีสายสัมพันธ์กันอย่างไม่มีจุดจบ
“ยันตระ” ในวัฒนธรรมทิเบต หมายถึง มณฑล นั่นคือ การจัดระบบสัญลักษณ์ ซึ่งเป็นฐานแห่งความเห็นแจ้ง มณฑลนี้แสดงออกมาเป็นรูปดอกบัว ๔ กลีบ ๘ กลีบ หรือ ๑๖ กลีบ ซึ่งทำให้เกิดจุดเริ่มต้นแห่งการบำเพ็ญฌาน
@@@@@@@
ความหมายและความสาคัญของพยางศักดิ์สิทธิ์ “หูม”
“หูม” เป็นพีชะ-พยางค์(Seed-Syllables) ประกอบด้วย ห (H), อู (U) และหุง (M) เป็นเสียงแห่งลมปราณ เป็นแก่นแท้ของชีวิต เป็นพลังชีวิตอันละเอียดที่ไหลเข้าและออก ครอบคลุมสรรพสิ่ง แท้ที่จริงแล้ว “หูม” ก็คืออาตมันที่อยู่ในภาวะดั้งเดิม หูม แสดงถึงจิตใจที่ปลอดจากธรรมารมณ์หรือสิ่งที่รับเข้ามาในจิตใจ
ประเด็นที่น่าสนใจคือ การเปล่งเสียง “หูม” พร้อมกับมีลมพ่นออกทางจมูกและปาก ลมปราณนี่แหละหมายถึงทุกอย่างของชีวิต ธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนสภาพของลมปราณ ลมคือพลังเคลื่อนไหว(Motion) ซึ่งนัยที่แท้จริงก็คือ “วิญญาณ” คุณสมบัติเชิงพลวัตทั้งหมด สรรพสิ่งที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวและเปลี่ยนรูปร่างย่อมเปิดเผยให้เห็นสภาพของลมปราณ กระบวนการทั้งหมดทั้งทางกายและจิต พลังทั้งหมดทั้งทางกายและจิต
เริ่มจากการทำหน้าที่ของลมปราณ การทำหน้าที่ของระบบหมุนเวียนของโลหิตและระบบประสาท จนถึงการทำหน้าที่ของวิญญาณ การทำหน้าที่ทางจิต และการทำหน้าที่ทางจิตชั้นสูง ล้วนเป็นการปรับเปลี่ยนสภาพของลมปราณ และลมปราณเกิดจากการเปล่งเสียงว่า “หูม”
ประเด็นที่น่าสังเกต คือ ความสัมพันธ์ระหว่างพยางค์ “โอม” กับพยางค์ “หูม” คำว่า“โอม” คือสภาพที่มุ่งขึ้นไปสู่สากลภาวะ คำว่า “หูม” คือสภาพแห่งสากลภาวะที่ดิ่งลงไปในส่วนลึกแห่งจิตใจมนุษย์
“โอม” เปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ “หูม” เปรียบเหมือนพื้นดิน(หรือฟ้ากับดิน) แสงอาทิตย์ต้องส่องลงมายังพื้นดินโดยไม่ต้องสงสัย “โอม” เป็นสภาพอนันต์ “หูม” เป็นสภาพอนันต์ที่อยู่ในสภาพอนันต์ การที่จะก้าวถึงและเข้าใจ “หูม” จะต้องผ่านประสบการณ์เกี่ยวกับ “โอม” ก่อน
“โอม” คือ จุดเริ่มต้น ในขณะที่ “หูม” คือ จุดสุดท้ายของ “หูม”
ใน“โอม” เราสละตัวเองออกมา ใน“หูม” เราให้ตัวเราเอง
“โอม” คือ ประตูแห่งความรู้ “หูม” คือ ประตูแห่งการตรัสรู้โพธิญาณ
@@@@@@@
พยางค์ศักดิ์สิทธิ์ “หูม” กับปัญญา ๕ ประเภท
ประเด็นที่น่าสังเกตต่อมาก็คือ ความสอดคล้องต้องกันระหว่างส่วนประกอบของ “หูม” กับโพธิญาณของพระธยานีพุทธะ
(๑) สระ “อู” ซึ่งเป็นส่วนประกอบด้านล่าง สอดคล้องกับสรรพสิทธิญาณของพระอโมฆสิทธิ หมายถึงว่าโพธิญาณที่ทำให้งานทุกอย่างสำเร็จลุล่วงไป
(๒) พยัญชนะ “ห” แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ
๒.๑ ร่างของ “ห” สอดคล้องกับปริจเฉทญาณของพระอมิตาภะ
๒.๒ หัวของ “ห” สอดคล้องกับสมตาญาณของพระรัตนสัมภวะ
(๓) ส่วนที่เป็นรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว(เมื่อเขียนคำว่า ‘หูม’ ด้วยสัญลักษณ์แบบทิเบต จะมีส่วนหนึ่งเหมือนรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว เป็นฐานะของหยดนิคคหิต) สอดคล้องกับอาทาสญาณของพระอักโษภยะ
(๔) เสียงนาสิก “ง(หรือ ม)” สอดคล้องกับธรรมธาตุญาณของพระไวโรจนะ
นอกจากนี้ “หูม” ยังมีความเกี่ยวเนื่องกับสีต่าง ๆ กล่าวคือ “หูม” เปล่งรัศมีสีน้ำเงิน เขียว แดง และเหลือง ซึ่งรัศมีเหล่านี้ถูกเปล่งออกมาจากหน้า ๔ ด้านของศูนยเทพ ผู้เป็นร่างทรงของมหาสุขะ(Supreme Bliss) และในร่างนี้เองเป็นจุดหลอมละลายพยางค์ “หูม”
ผู้ปฏิบัติโยคะต้องผสานสัญลักษณ์แห่งมันตระเข้ากับกายและจิตของตน ขั้นตอนสำคัญที่สุด คือ การย้อนกระบวนการแห่งโยคะ พร้อมกับ...
ละลายสัญลักษณ์สระ “อู” โดยให้จมลงไปในร่างของ “ห”
ให้ร่างของ “ห” จมลงไปในหัวของ “ห”
และให้หัวของ “ห” จมลงไปในสัญลักษณ์รูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว
ให้สัญลักษณ์รูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยวจมลงไปในสัญลักษณ์ “นิคคหิต”
และในที่สุดให้สัญลักษณ์ “นิคคหิต” ละลายหายเข้าไปในศูนยากาศ จนกระทั่งปรากฏอยู่ในความเงียบ
พยางค์ศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๖ กับภูมิ ๖
ภูมิ ๖ คือ เทวภูมิ อสูรภูมิ มนุสสภูมิ ดิรัจฉานภูมิ เปตภูมิ และนรกภูมิ
- ขณะที่เปล่งคำว่า “โอม” เราเพ่งจิตไปที่เทวภูมิ (โลกของเทวดา) เปิดประตูแห่งความหลุดพ้น ปิดประตูแห่งการเกิดใหม่
- ขณะที่เปล่งคำว่า “มะ” เราเพ่งจิตไปที่อสูรภูมิ (โลกของอสูร)
- ขณะที่เปล่งคำว่า “ณี” เราเพ่งจิตไปที่โลกมนุษย์ผู้มืดบอดเพราะอัตตานุทิฏฐิ
- ขณะที่เปล่งคำว่า “ปะ” เราเพ่งจิตไปที่ดิรัจฉานภูมิ (Animals)
- ขณะที่เปล่งคำว่า “ทเม” เราเพ่งจิตไปที่เปตภูมิ (โลกของเปรต)
- ขณะที่เปล่งคำว่า “หูม” เราส่งจิตอันประกอบด้วยเมตตาไปยังนรกภูมิ
ดังนั้น พยางค์ศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๖ จึงเป็นที่รวมแห่งข่าวสารเกี่ยวกับความหลุดพ้น ความรักที่มีต่อสรรพสัตว์ มรรคาที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นขั้นสุดท้าย ซึ่งเป็นที่น่ารื่นรมย์ เมื่อเปล่งพยางค์เหล่านี้ ด้วยความเคารพและเข้าใจความหมายอย่างลึกซึ้ง มหากรุณาอันเจิดจรัสย่อมเกิดขึ้นในจิตของ สาธกะ(ผู้ปฏิบัติ) ทำให้เปลี่ยนจากร่างของมนุษย์ธรรมดาเป็นนิรมาณกายของพระอวโลกิเตศวร ผู้มีใจประกอบด้วยรัศมีอันหาประมาณมิได้
ถามว่า “อะไร คือ นัยสำคัญเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพยางค์ศักดิ์สิทธิ์กับภูมิทั้ง ๖.?”
มันตระศักดิ์สิทธิ์นี้ ในระดับปัจเจกะ แต่ละพยางค์มุ่งถึงภูมิ(หรือธาตุ)แต่ละอย่างที่อยู่ในตัวมนุษย์แต่ละคน ซึ่งอยู่ในระดับโลกิยภูมิ ในขณะที่ภูมิที่เหลืออีก ๔ คือ สาวกภูมิ ปัจเจกภูมิ โพธิสัตตวภูมิ และพุทธภูมิ จัดอยู่ในฟากฝั่งโลกุตตระ มนุษย์ทุกคน หรือแม้กระทั่งสรรพสัตว์ย่อมมีภูมิทั้ง ๑๐ อยู่ในตัว พร้อมที่จะแสดงตัวออกมาเมื่อกาละและเทศะเหมาะสม
ในระดับสากล มุ่งถึงโลกิยภูมิทั้ง ๖ ดังกล่าว สรุปได้ว่า มันตระศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นอุปกรณ์เชื่อมโยงระหว่างโลกิยภูมิกับโลกุตตรภูมิ ทั้งที่อยู่ในตัวและอยู่นอกตัว พยางค์ คือ คำพูด มีความสำคัญซึ่งสร้างความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสัตว์อื่น ๆ คำพูดโดยทั่วไป คือ แก่นของความเป็นมนุษย์ คำพูดที่เป็นมันตระศักดิ์สิทธิ์ย่อมมีนัยแสดงถึงแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ คำพูดเป็นเครื่องหมายของจิตใจ
ธรรมชาติที่แท้จริงของคำพูดไม่ได้จบลงเพียงความหมายที่ปรากฏ และไม่ได้มีความสำคัญจำกัดอยู่เฉพาะเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความคิดและความรู้ที่ทรงคุณค่าเท่านั้น แต่คำพูดย่อมถ่ายทอดคุณสมบัติที่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นแนวคิดได้ ความสำเร็จของนักพูดผู้ยิ่งใหญ่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขาพูดเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับวิธีที่เขาถ่ายทอดด้วย
@@@@@@@
ในประเพณีไทยโบราณ นิยมย่อบทมันตระสำคัญ หรือแม้แต่หลักธรรมสำคัญ เพื่อเป็นบทสวดสาธยายให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ เช่น หัวใจอิติปิโส ว่า “อิ, สวา, สุ”
“อิ” เป็นคำย่อพุทธคุณ มาจากคำว่า “อิติปิโส ภควา ฯลฯ”
“สวา” เป็นคำย่อธรรมคุณ มาจากคำว่า “สวากขาโต ภควตา ธมโม ฯลฯ”
“สุ” เป็นคำย่อสังฆคุณ มาจากคำว่า “สุปฏิปนโน ภควโต ฯลฯ”
มันตระหัวใจอิติปิโส เมื่อประสงค์จะให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ให้ภาวนาเป็นคาบสลับกัน ดังนี้
คาบที่ ๑ อิ, สวา, สุ
คาบที่ ๒ สวา, สุ, อิ
คาบที่ ๓ สุ, อิ, สวา
หัวใจอริยสัจ ๔ ว่า “ทุ, ส, นิ, ม”
“ทุ” มาจากคำว่า “ทุกข์”
“ส” มาจากคำว่า “สมุทัย”
“นิ” มาจากคำว่า “นิโรธ”
“ม” มาจากคำว่า “มรรค”
เมื่อประสงค์จะให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ให้ภาวนาเป็นคาบสลับกันดังนี้
คาบที่ ๑ ทุ, ส, นิ, ม
คาบที่ ๒ ส, นิ, ม, ทุ
คาบที่ ๓ นิ, ม, ทุ, ส
คาบที่ ๔ ม, ทุ, ส, นิ
มันตระในประเพณีไทยผูกไว้เพื่อสวดสาธยาย เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางจิต แล้วน้อมจิตอธิษฐาน เพื่อให้สำเร็จสิ่งที่ปรารถนา ส่วนมันตระในประเพณีทิเบตผูกไว้เพื่อสวดสาธยาย สร้างกระแสจิตมั่นคง มุ่งสู่ภูมิในตัวเองและภูมินอกตัว หรือเพื่อเชื่อมโยงปัจเจกภาวะกับสากลภาวะ โลกทั้งหมดเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว
@@@@@@@
“มันตระ” มาจากรากศัพท์ว่า “มัน(บาลี: มน)” แปลว่า คิด เชื่อมกับธาตุ คือ “ตระ” หมายถึง อุปกรณ์
รวมทั้ง ๒ คำเข้าด้วยกัน แปลว่า “อุปกรณ์แห่งการคิด”
เสียงของมันตระ ไม่ใช่วจีกรรม แต่เป็นมโนกรรม ไม่ใช่สิ่งที่จะได้ยินด้วยหู แต่ได้ยินด้วยใจ ไม่ใช่สิ่งที่จะพูดออกมาด้วยปาก แต่พูดออกมาด้วยใจ มีพลังและความหมายเฉพาะ สำหรับคนที่ได้รับการอภิเษก(Initiated) กล่าวคือ คนที่ผ่านประสบการณ์พิเศษเกี่ยวกับมันตระเท่านั้น
มันตระ “โอม มณี ปัทเม หูม” นี้ เมื่อพิจารณาดูหลักการและเหตุผลแล้ว ไม่ได้เป็นไสยศาสตร์ แต่เป็นหลักการทางพระพุทธศาสนาที่ผสมผสานกับหลักจักรวาลวิทยาสากล พระพุทธศาสนาแบบทิเบตไม่ใช่ศรัทธามืดบอด แต่มีนัยลึกลับยากที่จะบรรยาย ในบางเรื่องบางครั้งเรียกว่า “คุยหยลัทธิ หรือรหัสยลัทธิ(Esotericism)” เรื่องเครือข่ายเชื่อมโยงกันทั่วจักรวาลระหว่างสัตว์โลก
มนุษย์ถือเป็นสัตว์พิเศษกว่าสัตว์โลกชนิดอื่น เพราะเป็นศูนย์รวมพลังจักรวาลทั้งหลาย พลังจากหมู่ดาวทั้งหมด เมื่อวิวัฒนาการไปครบวงจรแล้ว จะถ่ายโอนลงมาสู่ตัวมนุษย์ เพียงแต่ว่ามนุษย์ต้องปรับอินทรีย์ของตัวเองให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ และสร้างคุณธรรมไว้ในจิตใจตลอดเวลา เพื่อทำให้ตัวเองมีพลังบวก พลังที่จะดึงดูดพลังจากดาวดวงอื่น ๆ มารวมไว้ที่ตัวมนุษย์เอง
(-จบ-)
ดาวน์โหลด pdf file. วิเคราะห์มันตระ “โอม มณี ปัทเม หูม” : พระพุทธศาสนาหรือไสยศาสตร์ ได้ที่นี่
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 25, 2025, 08:03:45 am โดย raponsan »

บันทึกการเข้า

ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ