ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การสอนพระพุทธศาสนาแก่เยาวชน  (อ่าน 2388 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28595
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
การสอนพระพุทธศาสนาแก่เยาวชน
« เมื่อ: สิงหาคม 23, 2010, 04:16:00 pm »
0

การสอนพระพุทธศาสนาแก่เยาวชน
เสถียร โพธินันทะ
พิมพ์ในวารสารธรรมจักษุ ฉบับที่ ๒ ปีที่  ๘๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๐

ในการที่จะไปสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียน ก่อนอื่นใคร่จะขอเรียนว่า ตามที่ผมมีประสบการณ์จากการที่ได้ไปอบรมศีลธรรมตามโรงเรียน ในนามของยุวพุทธิกสมาคมในสมัยก่อน ปัญหาที่พบเกิดขึ้นกับตัวเองเสมอ นักเรียนตามโรงเรียนทุกแห่ง มักจะถามปัญหาเรื่องผีมีจริงหรือไม่ ? ทุกแห่งเลยครับ ไม่มีแห่งไหนที่จะไม่มีปัญหาที่ว่าผีมีจริงหรือไม่

 บัดนี้ถ้าเราสังเกตจากประสบการณ์บางอย่างแล้ว จะเห็นได้ว่า เป็นเพราะความคลางแคลงของคนในยุคปัจจุบันนี้ ที่ยังไม่แน่ใจลงไปว่า ตายแล้วเกิดหรือไม่ ปัญหานี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นข้อสงสัยเฉพาะเด็กนักเรียนอย่างเดียว แม้บิดามารดาหรือผู้ใหญ่ที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ ที่ยังไม่ได้รับการศึกษาอบรมทางศาสนาอย่างดีแล้ว ทุกคนมีความสงสัยเช่นนี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นในการที่จะโน้มน้าวจิตใจของเยาวชน ให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดีงามของพระพุทธศาสนา เราจะต้องปูพื้นฐานให้เยาวชนเหล่านี้ได้รับความเชื่อมั่นในเรื่องวัฏสงสารไว้

ในเบื้องแรก การที่ไปปาฐกถาอบรมผู้ใหญ่ก็ดี หรือเยาวชนก็ดี เมื่อเราสามารถแถลงข้อขัดข้องใจในเรื่องตายแล้วเกิดให้ขาวสะอาดแล้วปรากฏว่า การแสดงธรรมข้ออื่น ๆ ในลำดับต่อไป
 
พวกเขายินดีที่จะรับด้วยความศรัทธาปสาทะเต็มที่ แต่ถ้าเมื่อใดเรายังไม่สามารถหักล้างความสงสัย ในปัญหาเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว ปัญหาการประพฤติธรรมหรือการรับข้อธรรมข้ออื่น ๆ ก็ยังเป็นปัญหาในลักษณะที่ว่า “โลเล” ยังไม่รู้ว่าจะประพฤติธรรมไปทำไม

ถ้าจะอ้างว่าประพฤติธรรมไปเพราะเห็นแก่ธรรม เพื่อความเป็นคนดีเป็นคนที่ได้รับการสรรเสริญ ถ้าอย่างนั้นแล้ว คนที่ทำความชั่ว ที่ได้รับการสรรเสริญก็มีมาก อย่างสภาวิจัยแห่งชาติเขาวิจัยกัน บอกว่าปัญหาคอรัปชั่นในเมืองไทย มีมากจนแก้ไม่ตกก็เพราะว่าประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ให้ความเทิดทูน ยกย่องคนที่ทำคอรัปชั่น

ในเมื่อคน ๆ นั้นมีเกียรติ มีอำนาจ มียศฐานันดรศักดิแล้ว เราแทนที่จะหันหลังให้เขา เรากลับหันไปพินอบพิเทายกย่องสรรเสริญเขา เป็นเหตุให้คนเหล่านั้นได้ใจในการประพฤติกรรมชั่วยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก นี้เป็นปัญหาที่ทางสภาวิจัยแห่งชาติเขาวิเคราะห์กันมานานแล้วว่า

เหตุไร เมืองไทยจึงปราบปัญหาคอรัปชั่นกันไม่แตก และปราบไม่สำเร็จสักทีหนึ่ง ก็เพราะว่า ราษฎรส่วนใหญ่ยังยินดียกย่องสรรเสริญคนที่ทำกรรมอย่างนั้นอยู่ และถือว่าการทำกรรมอย่างนั้นได้โดยปกปิดหรือโดยซ่อนเร้น หรือทำกรรมชั่วชนิดที่เรียกว่า “ไม่มีใครจับเอาหลัก ฐานได้”

ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเขาประกอบกรรมชั่ว กลับยินดี เป็นวีรกรรมที่น่าภาคภูมิใจ และทำให้คนอื่นที่ยังไม่ประพฤติกรรมชั่วเลย อยากจะทำตาม เพราะมีตัวอย่างว่า คนทำชั่ว เมื่อทำแล้วก็ร่ำรวย มีคนนับถือคบค้าสมาคม ไฉนเราจะทำอย่างนั้นบ้างไม่ได้

ปัญหานี้เป็นปัญหาความเสื่อมจิตใจตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมา ในเมื่อเยาวชนเรามีจิตใจที่ตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้แล้ว เราจึงควรที่จะป้อนความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งให้แก่เยาวชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการฝังหัวให้เยาวชนเหล่านั้นเชื่อมั่นว่า
 
ถ้าตราบใดเรายังมีการประกอบกรรมอยู่ ตราบนั้น เวียนว่ายตายเกิด ชาติ ภพยังต้องมีอยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเราผู้สอนเองยังมีความไม่มั่นคงในปัญหานี้แล้ว ยกตัวอย่างถ้าเราบอกว่า “ปัญหานี้เราไม่ขอตอบ” หรือว่า “ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้าที่สมควรจะตอบ” อย่างนี้แล้วจะปล่อยให้เด็กไปฝังความสงสัยไว้มากเข้าจนกระทั่งเลยละล้าละลัง ไม่กล้าจะรับเอาข้อธรรมอะไรไปประพฤติดี

เราต้องเข้าถึงว่า สัญชาตญาณของคนนะครับ คนเรามีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง การรำพันว่า การทำดีที่จะเร่งให้ผลดี ประสบผลในปัจจุบันเราจะชี้ตัวอย่างคนดีด้วยความซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่การ งาน แล้วก็มั่งมีศรีสุข มียศฐาบรรดาศักดิ์ด้วยความซื่อสัตย์นั้น

ปัจจุบันนี้ชี้ได้ยาก เพราะว่าผลของกรรมดีด้วยการได้รับยศถาบรรดาศักดิ์ มิใช่ผลโดยตรงของกรรมดี แต่ว่าเป็นผลที่เกิดจากความฉลาดจากกาละเทศะและจากสิ่งแวดล้อมอีกหลายอย่าง ไม่ใช่ผลของกรรมที่เผล็ดผลได้ทันใจ เด็กที่ต้องการจะเห็นผลเหล่านี้ เราจึงยากที่จะชี้บุคคลเป็นตัวอย่าง เราจึงมีหนทางเดียว ที่จะสร้างความหวังให้ไว้กับเขา ถ้าแม้นความดีที่เราเล็งผลเลิศในทำนองต่าง ๆ

ดังพรรณนามา ซึ่งความจริงไม่ใช่ผลของความดีโดยตรง แต่เป็นผลโดยอ้อม เราต้องชี้แจงให้เขาเข้าใจชั้นหนึ่งก่อนว่า เป็นผลโดยอ้อมมิใช่ผลโดยตรง ส่วนผลโดยตรง ตัวอย่างเช่น นักเรียนที่ขยันเรียนถึงแม้การขยันของนักเรียน จะไม่เป็นเหตุให้นักเรียนคนนั้นปรากฏเป็นผลออกมา เป็นผู้ที่ว่าเพื่อนฝูงรักใคร่ หรือทำให้สามารถเป็นนักกีฬามีชื่อเสียงของโรงเรียน นำเกียรติยศมาสู่โรงเรียนก็จริง

แต่ว่า ความฉลาดนั้น เป็นผลที่สวนขึ้นทันควันกับความขยันหมั่นเพียรของนักเรียนคนนั้น คือนักเรียนที่ขยันหมั่นเพียรไม่จำเป็นจะต้องกลายเป็น “ฮีโร่” ในชั้นก็ได้ อาจกลายเป็นคนที่เพื่อนฝูงตั้งข้อรังเกียจ เพราะนักเรียนที่เป็นฮีโร่ บางทีก็อาจแฝงไว้ซึ่งความเป็นนักเลงกลาย ๆ หรือ มิเช่นนั้น ก็เป็นคนที่เรียกว่า มีน้ำใจเผื่อแผ่ โอบอ้อม มีทรัพย์สินเท่าไรเลี้ยงเพื่อนไม่อั้น

คนประเภทนี้ บางทีจะกลายเป็นฮีโร่ประจำชั้น อย่างนี้เราก็จะชี้แจงให้เด็กเข้าใจได้ว่า อาการที่เป็นฮีโร่ เปรียบเหมือนยศฐาบรรดาศักดิ์ของคนที่ทำความดีแล้วก็อยากจะให้มีความดี อันนั้นไม่ใช่ผลอันเกิดแต่กรรมดีอย่างเดียว ยังต้องมีอุปกรณ์สิ่งอื่นมาช่วยส่งเสริม เช่นความเป็นผู้มีน้ำใจโอบอ้อมอารี รักเพื่อนฝูง

 แต่อาการที่เราขยันหมั่นเพียรนี้ เปรียบเหมือนเราทำความดี เมื่อขยันหมั่นเพียรมาก ความฉลาดก็มีมากตามส่วน ความฉลาดมีขึ้นทุกขณะที่ความขยันหมั่นเพียรของเรา ได้ลงทุนไปทุก ๆ ขณะเหมือนกับเป็นผลตอบแทนขึ้นทันควันเหมือนกัน ไม่ต้องเล็งรอเอาอย่างอื่นมาให้เป็นผล อธิบายให้เด็กเข้าใจง่าย ๆ อย่างนี้

ในส่วนการที่จะคิดว่า จะให้มีอย่างโน้นอย่างนี้ในทางวัตถุ เราก็สร้างความหวังให้แก่เด็ก อย่างเช่นว่า ทำกรรมชั่ว แม้เราทำอย่างแนบเนียนชนิดที่กฎหมายตามเขาไม่ทัน แต่กรรมชั่วนั้นก็จะต้องให้ผลในภพต่อ ๆ ไป การอ้างภพต่อ ๆ ไปนี่ ท่านอย่าได้กลัวว่าเด็กสมัยใหม่จะคัดค้าน ไม่จริงหรอกครับ

 เราวิเคราะห์จากความรู้สึกของพวกชาวตะวันตกที่นับถือศาสนาแบบมีพระเจ้า เราก็เข้าใจ ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ ในเวลาเขาเข้าห้องแลบ เขาไม่เชื่อพระเจ้าตามหลักทฤษฎี แต่ในเวลาวันอาทิตย์เขาไปโบสถ์ เข้าทำหน้าที่รักษาศีลล้างบาป อ้อนวอนพระเจ้า เพราะฉะนั้นจิตวิทยาอย่างนี้น่ะ เราเอามาใช้ได้ในการเผยแผ่ศาสนาของเรา อย่าไปเกรงว่า ยุคนี้เด็กทันสมัยแล้ว

    เราไปพูดเรื่องเทวดา นรก สวรรค์ที่ไหนเด็กจะเชื่อ เขาจะคัดค้านเราละซิ ไม่ต้องกลัว พูดไปเถอะครับ มนุษย์เรามีใจโน้มเอียงในทางที่จะเชื่อสิ่งลึกลับอยู่แล้ว มิหนำซ้ำ พระพุทธศาสนาเราก็มีเหตุผลที่จะวิจัยให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้ มิใช่ของลี้ลับ
 
     แต่เป็นของมีจริงตามธรรมชาติ อย่างนี้ยิ่งจะย้ำศรัทธาปสาทะของเยาวชนให้มั่นคงขึ้น ในเรื่องหลักของการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อเขามีความมั่นคงเชื่อเรื่องตายแล้วต้องเกิด ก็เกิดความกลัว กลัวที่จะทำความชั่ว ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง แล้วก็มีกำลังใจที่จะทำกรรมดี เพราะแม้จะเร่งผลกรรมดีไม่ทัน ใจก็ยังหวังได้ว่าในอนาคตกาล เขาจะต้องได้รับผลดีอันนั้น เป็นสิ่งตอบแทนในภพเบื้องหน้า


มนุษย์เราอยู่ด้วยความหวัง ตราบใดที่ยังมีความหวังอยู่ ชีวิตก็ยังมีความหวังอยู่ ถ้าหากว่าไม่มีความหวังเสียเลย ก็มีคน ๒ ประเภท เท่านั้นเอง คือคนสิ้นหวัง กับคนไม่มีหวัง คนไม่มีหวัง คือ พระอรหันต์ครับ พระอรหันต์นั้นไม่มีหวังแล้ว เพราะไม่หวังอะไรอีกแล้ว

 แต่คนที่สิ้นหวังหรือพลาดหวังน่ะคือปุถุชน คนที่สิ้นหวังไม่ใช่คนที่ไม่มีหวัง สิ้นหวังอย่างหนึ่ง แต่ไม่มีหวังอีกอย่างหนึ่ง คนไม่มีหวังคือพระอรหันต์ แต่คนที่สิ้นหวังคือปุถุชน เพราะฉะนั้น คนเรานี่มีชีวิตอยู่ด้วยความหวังเป็นเครื่องปลอบประโลมใจ ถ้าหากว่า เราบ่งเน้นรากฐานทางศีลธรรมโดยปูพื้นฐานของเด็กให้ฝังหัวในเรื่องเวียนว่าย ตายเกิด เช่นนี้จะได้ผลในทางยกฐานะระดับจิตใจของเด็กให้สูงมาก

อันธพาลบางคนหรือเด็กที่มีสันดานที่จะเป็นอันธพาลบางคน เราจะพร่ำชี้แจงเหตุผลต่าง ๆ เขาไม่ฟัง แต่จะต้องใช้วิธีขู่ให้กลัว คือ คนเรามีความรักตัว กลัวว่า ถ้าเราทำอย่างนั้นไปแล้วตำรวจเขาจะจับไม่ได้ บิดามารดาจับไม่ได้ แต่อย่างน้อยยมบาลท่านจับเราได้ เราจะต้องลำบาก ยมบาลจะต้องลงโทษ อย่างนี้ได้ผล เด็กกลัว เหมือนกับเด็กที่กลัวพระเจ้าตามโรงเรียนฝรั่งเขาอย่างนั้นแหละ เด็กที่เหลือขอ จริง ๆ แล้ว

เขาเอาพระเจ้ามาขู่ให้กลัว ไม่กลัวพ่อแม่ ไม่กลัวกฎหมาย แต่กลัวพระเจ้า ที่กลัวพระเจ้า ก็เพราะ คนเรามีสัญชาตญาณรักตัว นึกว่าตัวเราชาตินี้รอดหูรอดตากฎหมาย แต่ชาติหน้าจะไม่รอดสายตาพระเจ้าไปได้ พระเจ้านั้นท่านอยู่ทุกหัวระแทง ที่จะเล่นงานเอาได้ ทุกที่ทุกมุมเมือง ความกลัวนี่แหละ ที่ทำให้จิตใจไม่กล้าประพฤติความชั่วจนเหลือเกิน คือยังช่วยให้เป็นคนที่สำนึกตนได้อยู่บ้าง ไม่ถึงกับจะต้องเหลือขอ จนกระทั่งนึกไม่ได้เสียเลย

 
อันนี้เป็นประสบการณ์ ที่ผมได้รับจากโรงเรียนที่ผมไปอบรมศีลธรรมมา ทุกเเห่งถ้าหากว่าผมไปแถลงแก้ข้อขัดใจเรื่องชาตินี้ชาติหน้าเสียแล้ว นักเรียนพอใจทั้งนั้น และเราวิจัยผล คือถามประเมินผลจากการที่เราไปอบรมในครั้งนี้ ครั้งต่อไปถามนักเรียนอีกว่า นักเรียนทั้งหลายบัดนี้มีความสงสัยเรื่องชาติหน้า เรื่องเวียนว่ายตายเกิดแล้วหรือยัง นักเรียนตอบว่า ไม่สงสัย เมื่อไม่สงสัยแล้ว

นักเรียนยังเห็นว่า การประพฤติความชั่ว เป็นของควรทำหรือไม่ นักเรียนตอบทุกคนว่า การประพฤติความชั่วเป็นสิ่งไม่ควรทำ เพราะกลัวตกนรก ตอบกันตรง ๆ ว่า กลัวตกนรก นี่ได้ผลครับ ทำมาทุกโรงเรียนแล้ว กลัวตกนรกทั้งนั้นแหละ เพราะเชื่อว่า นรกสวรรค์นั้นมีแล้ว จึงกลัวตกนรกกันทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น กระผมก็อยากนิมนต์ท่านทั้งหลายที่ทำหน้าที่เป็นพระธรรมวิทยากร (๑ )อยู่ นำเรื่องการปูพื้นศีลธรรม เบื้องแรกให้เพาะศรัทธาในเรื่องบุญบาป เวียนว่ายตายเกิดเสียก่อน แต่ว่าการเพาะศรัทธาในเรื่องนี้นั้น เราต้องยืดหยุ่นครับ คือว่าตอบเป็นสองแง่สองมุม อย่าไปตอบอย่างชนิดว่ายืนกระต่ายขาเดียว คือตอบว่า ผลกรรมชนิดที่ให้ผลทันด่วน ยกความขยันหมั่นเพียรแล้ว ก็ได้รับความฉลาดทุกครั้งที่เราขยัน นี่เป็นผลกรรมดีโดยตรงอย่างหนึ่ง

     อีกอย่างหนึ่งอาจตามมาเป็นผลพลอยได้ มิใช่ผลเกิดโดยตรงของกรรมดี เช่นว่า ความเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนฝูง และครูอาจารย์ตลอดจนถึงเพื่อนฝูงยกย่องให้เป็นหัวหน้าชั้น ให้เป็นฮีโร่ประจำโรงเรียนต่าง ๆ เหล่านี้ มิใช่เป็นผลโดยตรง แต่เป็นผลพลอยได้ การที่จะได้ผลพลอยได้นั้น ต้องประกอบสิ่งที่เป็นอุปกรณ์อย่างอื่นไปด้วย นักเรียนที่ขยันหมั่นเพียร


     แต่มีน้ำใจคับแคบ มักสอบไล่ได้ที่ ๑ ทุกปี แต่เพื่อนเกลียดน้ำหน้า เพราะใจแคบเหลือเกิน ไม่เผื่อแผ่เพื่อนฝูงบ้าง เพื่อนฝูงจะมาขอว่าโจทย์เลขข้อนี้ให้ช่วยอธิบาย ก็ไม่ยอมอธิบาย หวงความรู้ไว้อย่างนี้เรียกว่าบกพร่องในทางที่จะเอาผลพลอยได้จากกรรมดี นี่เราจะต้องทำให้สมบูรณ์ทุกแบบ ไม่ว่าจะในแง่เล็งผลพลอยได้ หรือในแง่ที่ว่าจะให้ผลมันสวนขึ้นทันควัน อันเป็นวิบากของกรรมนั้น ๆ ก็ตาม อันนี้เป็นการปูพื้นฐานศีลธรรมเบื้องแรกแก่เด็กให้ฝังหัวในเรื่องนี้ก่อน

     อันดับ ที่สอง ก็คือ ยกพุทธคุณเป็นสำคัญขึ้นมา เมื่อกล่าวถึงพุทธประวัติ เด็กส่วนมากในปัจจุบันนี้ก็ขึ้นใจ เพราะได้ผ่านหลักสูตรพุทธประวัติมาตั้งแต่ชั้นประถมแล้วพอที่จะรู้เรื่อง บ้างว่า พระพุทธองค์เป็นใครมาจากไหน แต่ถ้าเราไปสอนตามเนื้อหาในหนังสือ มันก็ไม่สนุก เด็กผ่านมาแล้ว ก็ท่องเป็นนกแก้วทีเดียว เป็นโอรสของพระนางสิริมหามายา เกิด พ.ศ. นั้น ปีนั้น ๆ ก่อนพุทธกาลแค่นั้น ๆ ถ้าอย่างนั้น พูดได้ทีเดียว

    อย่างนี้เด็กไม่รู้จักความเพลิดเพลิน ทางที่จะสร้างความเพลิดเพลินในการศึกษาพุทธประวัตินั้น ผมใคร่จะกราบเรียนว่า ให้สอนแบบศึกษาพุทธประวัติแบบเบสิค

    บางทีเราก็อาจจะมีรูปติดไม้ติดมือไปบ้าง ยกตัวอย่างเช่น รูปแผนที่ของอินเดีย หรือไม่มีเราก็อาจเขียนรูปแผนที่อินเดียหยาบ ๆ บนกระดานดำ แสดงจุดที่ตั้งของเมืองกบิลพัสดุ์ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน อันที่สำคัญในทางพุทธศาสนา แสดงไว้หยาบ ๆ ชั้นหนึ่งก่อน แล้วก็เล่าเรื่องสนุก ๆ ให้ฟังประกอบ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 06, 2012, 07:01:35 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28595
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: การสอนพระพุทธศาสนาแก่เยาวชน
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 23, 2010, 04:20:12 pm »
0

เรื่องสนุก ๆ ที่ว่านี้ก็คือ เล่าเรื่องความเป็นไปในอินเดียก่อนพุทธกาลให้ฟัง เกี่ยวกับชั้นวรรณะของประชาชนในยุคนั้น พอถึงตอนนี้ละก็เน้นถึงพุทธคุณว่า พอพระพุทธเจ้าเกิดแล้ว พระองค์เป็นบุคคลแรกที่สอนให้เลิกระบบชั้นวรรณะ แล้วตั้งปัญหาถามนักเรียนว่า นักเรียนในห้อง ถ้าหากว่ามีการแบ่งชั้นแบ่งพวกว่า นี่เป็นลูกคนจน นี่เป็นลูกคนรวย นี่เป็นลูกตาสีตาสา นักเรียนจะพอใจไหม นักเรียนจะต้องตอบว่าไม่พอใจ

ถามต่อไปว่า จะเป็นการเสมอภาคไหม จะตอบว่าไม่เสมอภาค ถามอีกว่า ถ้ามีครูหรือโรงเรียนใดสอนว่า เด็กนักเรียนคนใดจะมาจากคนจนคนมีก็ตาม เมื่อเข้าโรงเรียนนี้แล้ว ต้องได้รับการต้อนรับเสมอกันจากเจ้าของโรงเรียน จะพอใจไหม จะชอบโรงเรียนอย่างนั้นไหม หรือจะพอใจโรงเรียนที่แบ่งชั้นแบ่งพวก เช่น ลูกเศรษฐีต้องได้นั่งโต๊ะดี ลูกตาสีตาสาต้องนั่งโต๊ะไม้ฉำฉา เป็นต้น จะเอาหรือไม่เอา นี่ถามอย่างนี้


แล้วก็วกมาที่พุทธคุณ เปรียบพระพุทธเจ้าเหมือนอาจารย์ใหญ่ในโรงเรียนนั้น ศาสนาคือตัวโรงเรียน พวกเราชาวพุทธเป็นนักเรียน เสมอหน้ากันหมด ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ ศาสนาพราหมณ์เขามีการแบ่งชั้นวรรณะ ศาสนาพุทธเราไม่มีการแบ่งอย่างนั้น เมื่อเด็กรับฟังอย่างนี้แล้วก็พอใจ รู้ว่าวรรณะ ๔ คือ อะไร การแบ่งชั้นวรรณะเป็นผลร้ายอย่างไร พุทธศาสนาดีอย่างไรที่สอนให้เลิกชั้นวรรณะ นี่เป็นการสอนพุทธประวัติแบบเบสิค ต้องมีข้ออุปมา อุปไมย

การตั้งปัญหาถามให้เด็กตอบ เราอย่าตั้งปัญหาชนิดที่เด็กจะตอบไม่ได้ บางปัญหาถ้าเด็กจะตอบไม่ได้ เราก็ทำประหนึ่งว่า แหวกทางให้แกตอบ ให้แกเดินตามทางที่เราแหวกเอาไว้ แกก็จะภูมิใจว่า แกตอบปัญหาพุทธศาสนาข้อนี้ได้ อันการภาคภูมิใจนั้น เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าทุกครั้งที่เราสอนแล้ว ตั้งปัญหาชนิดที่เด็กตอบได้ ถ้าทำท่าจะตอบไม่ได้เราก็เดินทางให้ คือตอบให้แกครึ่งหนึ่ง แกก็ตอบได้ ตอบได้แล้ว เราก็ยกย่อง การที่เรายกย่องว่าแกตอบได้นี้

เด็กจะเก็บไปภาคภูมิใจที่บ้านว่า วันนี้ตอบปัญหาพระได้ ๒ ข้อ ดีใจจัง คุณพ่อคุณแม่ รีบไปรายงานพ่อแม่ทีเดียว การสอนอย่างนี้เด็กไม่เบื่อ ไม่เหมือนกับ ร.ร. บางแห่ง ที่เอาตำรามากางแล้ว ให้เด็กอ่าน หรือตัวเองอ่านให้เด็กฟัง เสร็จแล้วก็จบชั่วโมง เมื่อจบ ช.ม. ศีลธรรมแล้ว เด็กไม่อยากเรียนเลย ไม่สนุกสนานเลย บางคนก็บอกว่าไม่จำเป็นต้องสอนนี่ หนูอ่านเอาเองก็ได้นี่นาเพราะฉะนั้นการสอนของเรานี่ ต้องพยายามคุยกับเด็กนะครับ อย่าเป็นผู้พูดให้เด็กฟังฝ่ายเดียว

ถ้าพูดให้เด็กฟังฝ่ายเดียวเรียกว่าขาดจิตวิทยา ไม่ได้ผล ในการสอนศีลธรรม ต้องสอนแบบลักษณะคุย ให้เด็กเกิดความสนุกสนาน ให้มีโอกาสตอบปัญหาของเรา และบางครั้งเราก็จะสามารถเรียกเด็กบางคน ที่มีแววฉลาดหน่อยให้ขึ้นมาแสดง เป็นการหัดให้แกปาฐกถาย่อย ๆ

เช่นเอาแกขึ้นมาเล่าพุทธประวัติ ตอนประสูติ เอาเด็กคนหนึ่งมาเล่าตอนอภิเนษกรมณ์ อีกคนหนึ่งมาเล่าตอนตรัสรู้ อีกคนมาเล่าตอนนิพพาน อย่าให้คนเดียวเล่าตลอดเรื่อง คล้ายเด็ก ๔ คนเล่าพุทธประวัติ ๔ ตอน เมื่อเล่าคนละตอนแล้วก็เอาเด็กอีกคนหนึ่ง เป็นคนที่ ๕ ขึ้นมาสรุปอีกทีหนึ่ง

 การสอนวิธีนี้ จะเพิ่มให้เด็กมีความจำแม่นยำในพุทธประวัติ ทั้งในชื่อสถานีที่ ชื่อเมืองและชื่อบุคคลดีกว่าที่เราจะสอนไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่ให้เด็กมีบทบาทอะไรเสียเลย อันนี้เป็นการให้เด็กจำพุทธประวัติได้ โดยไม่รู้ตัวครับ และได้ผลที่สุดซึ่งผมได้ทำมาแล้ว ได้ผลดีจริง ๆ ครับ

หลักต่อมาในการที่จะสอนพุทธประวัตินั้น ถ้ายังเป็นเด็กเล็กก็เพียงแต่สอนให้แกจำ ถ้าเป็นเด็กโตหน่อย พอที่จะพิจารณาเหตุผลได้ เราถึงสอนให้แกรู้จักใช้เหตุผล คือ เด็กที่ยังเล็กนั้นเพียงแต่สอนให้จำก็พอ ยังไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เหตุผลเท่าไร

เด็กชั้นกลางขึ้นมาจึงสอนให้รู้จักเหตุผล ใช้เหตุผล นี้เนื่องจากตามโรงเรียนต่าง ๆ นั้นเข้าใจว่า คงจะมีนักเรียนนับถือต่างศาสนาไปเรียนปะปนบ้าง เพราะฉะนั้นในปัญหาข้อนี้ เราก็ควรพยายามที่จะหลีกเว้นจากการกระทบกระทั่งในปัญหาของต่างศาสนา เรามีวิธีพูดที่จะยกย่องศาสดาของเรา


โดยที่ไม่ต้องกระทบศาสนาอื่นเขา นั่นก็คือว่า เด็กในชั้นกลางถึงไม่ว่าจะเข้าใจในเหตุผล เราเอาวิทยาศาสตร์มาเปรียบเทียบให้เขาฟังทุกครั้ง ยกตัวอย่างเรื่องพระพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลแรกในโลก ที่รู้จักว่าโลกกลม อันนี้ก็นำหน้าวิทยาศาสตร์อีกข้อหนึ่ง ปัญหาเรื่องในเวิ้งอวกาศ ที่มีโลกธาตุหรือมีดวงดาวต่าง ๆ มากมาย เราก็บอกว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนแรกในโลก

 ที่กล่าวถึงความเป็นไปในโลกธาตุ ในเวิ้งอวกาศ ก่อนหน้าพวกวิชาดาราศาสตร์และจรวดจะไปพบ อันนี้เราบอกกับเด็ก ๆ จะเกิดความทึ่งทีเดียว บางคนก็ว่าแปลก ไม่เคยรู้ว่าพระพุทธเจ้านำหน้าวิทยาศาสตร์ เช่นนี้เราก็ตีวงเข้ามาทีเดียว บอกว่าคนที่รุดนำหน้าวิทยาศาสตร์เช่นนี้ ก่อนหน้าวิทยาศาสตร์จะเกิด ๔,๐๐๐ กว่าปี คนอย่างนี้เป็นศาสดาของเรา ๆ จะภูมิใจไหม เด็กตอบว่าภูมิใจ นั่นแหละเราควรภูมิใจว่า เราเป็นชาวพุทธที่มีศาสนาที่ฉลาดนำหน้าวิทยาศาสตร์ตั้ง ๒,๐๐๐ กว่าปี

จะหาศาสนาใดที่จะเฉลียวฉลาดเลิศล้ำอย่างนี้ไม่ได้ เราควรภูมิใจนะ เราบอกกับเด็กว่า คำว่า “พุทธ” แปลว่าฉลาดเลิศล้ำ หมายถึงผู้ฉลาดล้ำเลิศมีปัญญา เราเป็นชาวพุทธซึ่งเป็นศาสนิกของคนฉลาด มีศาสดาฉลาด เราเป็นลูกศิษย์คนฉลาด เราควรดีใจ เราไม่ใช่ลูกศิษย์คนโง่ แกก็พอใจ นี่วิธีสอนแบบนี้เป็นการเร้าศรัทธาแกให้ผูกพันกับศาสดา และจิตใจเด็กนี้ต้องการหาที่ยึดเหนี่ยวหาที่เกาะ

ถ้าเราหยิบยื่นสิ่งนี้ให้แกเกาะ เป็นบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ อาจจะไม่ยั่งยืน เพราะบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ เพราะฉะนั้นการที่ยกพระพุทธเจ้าขึ้นมาให้แกเกาะนี้ เป็นการถูกต้องแล้วเพราะ :-
๑. ในฐานะที่เป็นเจ้าของศาสนาที่แกนับถือ
๒. พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว

สิ่งที่ยึดเกาะนั้น แกจะต้องสร้างเป็นรูปมโนภาพในใจ ตามคำที่เราสั่งสอนไปว่า พระพุทธเจ้าต้องเลิศล้ำอย่างนั้น ๆ แกก็ตั้งมโนภาพขึ้น ชีวิตของเด็กอยู่ด้วยความใฝ่ฝัน สร้างมโนภาพ มโนภาพของเด็กนั้น ถ้าเป็นเด็กที่มีนิสัยอันธพาล ก็มักจะสร้างมโนภาพในทำนองที่ว่าจะเป็นผู้คุมแก๊ง จะแสดงความเป็นพระเอกอกสามศอก ตีรันฟันแทง

ใครมาแขวะเรื่องโรงเรียนหรือเรื่องกีฬาเป็นไม่ได้ จะต้องโดดเข้าไปชก ท้าชกท้าต่อย นี่จับใจที่สร้างมโนภาพในทางเลวทางไม่ดี ฝ่ายที่สร้างมโนภาพในทางดี เด่นนั้นนะก็มักที่จะคิดใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้นำในชั้น ผู้นำในทางกรีฑา หรือเป็นผู้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ในอนาคต เช่นมุ่งหวังว่าจบนี้แล้ว จะไปเข้าเอ็นนักเรียนนายร้อย จะไปเข้าธรรมศาสตร์ จุฬา มุ่งหวังทางชีวิตไปยังไง เขาสร้างบุคลิกมโนภาพของเขาไปอย่างนั้น เด็กเหล่านี้มักจะยึดอุปโลกน์บุคคลที่ตนใฝ่ฝัน เช่น เอลวิส ๔ เต่าทอง

เราสังเกตเห็นได้ครับโรงหนังเวลาหนังเอลวิส ๔ เต่าทองเข้า ผู้ใหญ่ไม่มีใครไปดู มีแต่เด็กทั้งนั้น และเป็นเด็กนักเรียนเสียด้วย...และแม้แต่ในกระเป๋าของแก ไม่มีรูปใครหรอก รูปเอลวิสบ้าง รูป ๔ เต่าทองบ้าง ในลิ้นชักโต๊ะ ตู้หนังสือในบ้านของแกก็ติดรูปเอลวิสกับ ๔ เต่าทองทั้งนั้น ความโน้มเอียงของเด็กเหล่านี้ ก็เพื่อต้องการหาที่ยึดเหนี่ยวและเมื่อพวกเขาไปดูหนังของ ๔ เต่าทอง หรือ เอลวิสมา

ก็พากันยึดเอาพระเอกหนังเหล่านี้ มาเป็นบุคคลตัวอย่างในความฝันพยายามจะทำตัวให้เหมือนกับบุคคลตัวอย่าง ลีลาโวหารกระทั่งการเดิน การเหิน การพูด การแอคท่า ก็ทำให้เหมือนเอลวิสและ ๔ เต่าทอง และก็บ้าคลั่งพอที่จะไว้ผมแบบ ๔ เต่าทอง เคราะห์ดีที่ ร.ร.เขาไม่อนุญาตให้ใครไว้ผม ๔ เต่าทอง ที่เป็นเช่นนี้ ทางจิตวิทยาเขาวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะวัยของเด็กต้องการยึดเหนี่ยวหาบุคคลมา เป็นตัวอย่างในความใฝ่ฝัน


เมื่อเด็กมีปัญหาครอบครัวแก้ไม่ตก เช่น บิดามารดาไม่ใส่ใจ หรือว่าบิดามารดามีปัญหามาก ไม่สามารถที่จะคลุกคลีกับบุตรของตนได้ หรือว่าไปพบกับบิดามารดา ที่มีความประพฤติไม่ดีให้บุตรหลานเห็นเข้า เด็กเหล่านี้ยิ่งเคว้งคว้างใหญ่ พยายามที่จะลอกเลียนแบบจากบุคคลตัวอย่างที่เ ขาอุปโลกน์ขึ้นใจทั้งนั้น เด็กพวกนี้โดยมากเสียคน กลายเป็นนักเลงไปกลายเป็นพวกคุมแก๊งต่าง ๆ ไป

พวกนี้เสียคนทีเดียว เราสอนศีลธรรมในโรงเรียน จึงควรที่จะล้างสมองเด็กพวกนี้ โดยหยิบเอาบุคคลตัวอย่าง ที่ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติมาใส่ นั่นคือเอาพระพุทธเจ้าใส่แทนที่เข้าไป ใส่แทนเข้าไปเลยฝังหัวให้เด็กพวกนี้ เอาพระพุทธเจ้าใส่เข้าไปแทน ไม่ต้องเอาคนอื่น เอาพระพุทธเจ้านี่แหละ ใส่เข้าไป เพราะพวกนี้ปกติก็นับถือพระพุทธเจ้าในฐานะศาสดาอยู่แล้ว การมี่จะเอาสิ่งที่เขานับถือนั้นใส่แทนบุคคลิกภาพอื่นจึงเป็นการง่าย

แต่การที่จะใส่แทนลงไปนี่นะ ห้ามไม่ให้โจมตีเอลวิส หรือ ๔ เต่าทองนะครับ ย่าไปโจมตีเป็นอันขาดทีเดียว ถ้าโจมตี เด็กพวกนี้จะเกิดปฏิกิริยาในใจ เพราะพวกนี้เขากำลังเห็นเอลวิสกับ ๔ เต่าทอง เหมือนหนึ่งเป็นตัวอย่างอันมีค่าของเขาอยู่ การที่เราจะเอาไปใส่เราก็ทำง่าย ๆ อย่างนี้ว่า เราใฝ่ฝันถึงหรือคำนึงถึงพระพุทธเจ้า เพราะว่าการที่เราใฝ่ฝันหรือคำนึงถึงพระพุทธเจ้านี่นะ

เราได้ผลตอบแทนหลายอย่าง เราอธิบายให้เขาฟัง ผลตอบแทนข้อที่ ๑ ก็คือว่า เราจะพ้นภัยร้อยแปดประการ เอาความกลัวภัย ความรักตัวมาปลุกใจทางอ้อม ก็ถ้าเรานึกถึงพระพุทธเจ้าเสมอ คิดมโนภาพถึงพระพุทธรูปเสมอแล้วเราจะพ้นภัย


ประการ ที่สอง เมื่อเราคำนึงถึงพระพุทธเจ้าอยู่เสมอแล้ว เราจะเกิดมีกำลังใจในการศึกษาเล่าเรียน วิถีชีวิตของเราจะผ่องแผ้ว อุปสรรคในชีวิตของเราจะแก้ไขได้เป็นเปลาะ ๆ ถ้าหากว่าการแก้อุปสรรคชีวิตนี้ เราก็พูดอย่างชนิดที่ว่ามาเหนือเมฆนิดหน่อยนะครับ คือบอกว่า ถ้าเรื่องมันหนัก มันจะกลายเป็นเบานะ ถ้าเรื่องมันเบา มันก็จะแทงสูญ เราพูดอย่างนี้พูดเผื่อไว้ ไม่ใช่พูดว่า

เมื่อนึกถึงแล้ว ทุกข์ต่าง ๆ หายหมด อ้าว ถ้าอย่างนั้น วันนี้แม่ไม่ได้ให้สตางค์กินข้ามาพอสมควร หรือว่าวันนี้มีสตางค์ไม่พอเข้าโรงหนัง ลองนึกถึงพระพุทธเจ้า จะได้สตางค์เข้าโรงหนังไหม ? อ๋อ อย่างนี้แก้ไม่ได้หรอก (หัวเราะ) เราแก้ไม่ได้ เรื่องใหญ่จึงจะกลายเป็นเรื่องเล็ก เรื่องเล็กถึงจะแทงหายสูญ นี่เพราะฉะนั้น เราจะไม่คิดถึงใครดีกว่าคิดถึงบุคคลที่ควรจะคิด ควรจะใฝ่ฝัน ซึ่งคิดและใฝ่ฝันแล้วเราสบาย เราพ้นภัย เราได้ผลตอบแทนจากท่าน

สิ่งนั้นคือความสงบสุขอธิบายให้เด็กฟัง และบอกว่าคนที่เราใฝ่ฝันต้องมีคุณสมบัติให้เราใฝ่ฝัน ถ้าไม่มีเราไม่ควรจะใฝ่ฝัน คุณสมบัติที่ควรจะใฝ่ฝันคืออะไร คือพุทธคุณดังที่ผมอ้างมาว่า นำหน้าวิทยาศาสตร์ข้อนั้น ๆ เป็นต้นให้แกฟัง นี่เป็นการสอนเด็กชั้นกลาง ชั้นโตขึ้นมาหน่อยก็ปูพื้นฝังราก เรื่องพระพุทธประวัติพุทธคุณเอาไว้จำให้มั่นในแง่นี้

อีกข้อหนึ่งก็คือว่า การเล่าเรื่องนิทานชาดกนี่ขาดไม่ได้ อย่าไปนึกว่าเด็กชั้นกลางชั้นโตไม่ชอบฟังชาดกไม่จริงหรอกครับ ชอบ อย่าว่าแต่เด็กแม้ผู้ใหญ่ก็ชอบ

แต่ว่าวิธีเล่านะครับให้รู้จักเล่าเถอะ อย่าไปเล่าอย่างยายแก่เล่า ถ้าเล่นอย่างยายแก่เล่าคนก็หงอยเหงาง่วงนอนซิครับ การเล่าต้องมีแอคชั่น ถ้าไม่มีแอคชั่นแล้วก็ไม่สนุก ต้องปลุกบรรยากาศให้มีชีวิตชีวาด้วย สุ้มเสียงที่จะเล่าเสียงจำนรรจาในตัวบุคคลในเนื้อหาก็ดี ถ้าเป็นเสียงว่าตัวร้ายแสดงละก็ มีการออกสุ้มเสียงให้น่ากลัวนิดหน่อย ถ้าถึงบทโศกบทเศร้า เราก็ต้องมีท่าทางประกอบให้เป็นเศร้า ให้มีละห้อยนิดหน่อยในสุ้มเสียง

แต่เมื่อเป็นพระจะไปสอนจะไปออกแอคชั่นจนเหลือเกินอย่างคฤหัสถ์ออกนั้นไม่ได้ นิมนต์ให้ออกแต่สุ้มเสียงอย่างเดียวนะครับให้เป็นแผ่ว หนักก็หนัก เน้นก็เน้นให้มีประกอบนิดหน่อย อย่างนี้เด็กพอใจ แต่อย่าไปพูดว่าจะเล่านิทานชาดก อย่าไปพูดคำว่าชาดก บอกว่าเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ในอดีตให้ฟังประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งในอดีต ต้องเรียกว่าประวัติศาสตร์ในอดีตตอนหนึ่ง ของพระพุทธเจ้าให้ฟัง ประวัติของพระพุทธเจ้าในอดีตนะเป็นอย่างนั้น ๆ นี่

 เราก็สรุปท้ายบอกว่า เพราะพระพุทธเจ้าทำความดีอย่างนี้ในอดีตสิ ชาตินี้จึงมีเกียรติยศเกียรติศักดิ์ มีฐานะเป็นศาสดาที่คนเคารพบูชา เป็นผู้บริสุทธิ์อย่างนี้สรุปท้ายลงไปในแง่นี้ เด็กก็ไม่ง่วงเหงาหาวนอน พอใจและชาดกถ้ามันสนุก เห็นเด็กกำลังเพลินมีความสนุก เราหยุดฉับ คั่นเอาไว้ว่า เอาไว้ชั่วโมงหน้า วันอาทิตย์หน้าเล่าต่อแน่ ให้เกิดมีกำลังใจว่า เออ-ในชั่วโมงศีลธรรมคราวหน้า เราต้องมาพรักพร้อม ขาดเรียนไม่ได้นา

มาฟังต่อว่าอย่างนั้นไอ้ตอนไคลแมกซ์ก็หยุดเสีย ยกไว้คราวหน้าเล่า นี่สังเกตดูหน้าคนฟัง ถ้าคนฟังออกรส เราจบเสียนี่ได้ผลนักเชียว เร้าใจให้อยากฟังต่อ เพราะฉะนั้นการสอนศีลธรรม เราต้องมีกลเม็ดเด็ดพรายเหมือนกันนะครับ ในขั้นที่จะสอนน่ะ

ถ้าทำอย่างนี้ได้ละก้อ ผมเชื่อว่าได้ผลครับ ธรรมวิทยากร(๑) ของเรา ที่จะออกไปสอนตามโรงเรียนจะต้องได้ผลแน่ ภายในระยะเพียงสัก ๓ ปีข้างหน้า แล้วเราก็จะเห็นผลว่าเด็กพอใจอันนี้จะเป็นผลงานให้เราหายเหนื่อย และเป็นกำลังใจที่เราคิดมุ่งหวังจะทำงานให้กับพระศาสนาต่อไป



(๑. )พระธรรมวิทยากร คือกลุ่มพระภิกษุสามเณร ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ที่อาสาสมัครไปสอนศีลธรรมเด็กตามโรงเรียนต่าง ๆ ในชั่วโมงศีลธรรม

ที่มา  http://www.dharma-gateway.com/ubasok/ubasok-preach-satien-index-page.htm
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 06, 2012, 07:03:24 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ