« เมื่อ: สิงหาคม 23, 2010, 04:16:00 pm »
0
การสอนพระพุทธศาสนาแก่เยาวชน
เสถียร โพธินันทะ
พิมพ์ในวารสารธรรมจักษุ ฉบับที่ ๒ ปีที่ ๘๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๐
ในการที่จะไปสอนพระพุทธศาสนาในโรงเรียน ก่อนอื่นใคร่จะขอเรียนว่า ตามที่ผมมีประสบการณ์จากการที่ได้ไปอบรมศีลธรรมตามโรงเรียน ในนามของยุวพุทธิกสมาคมในสมัยก่อน ปัญหาที่พบเกิดขึ้นกับตัวเองเสมอ นักเรียนตามโรงเรียนทุกแห่ง มักจะถามปัญหาเรื่องผีมีจริงหรือไม่ ? ทุกแห่งเลยครับ ไม่มีแห่งไหนที่จะไม่มีปัญหาที่ว่าผีมีจริงหรือไม่
บัดนี้ถ้าเราสังเกตจากประสบการณ์บางอย่างแล้ว จะเห็นได้ว่า เป็นเพราะความคลางแคลงของคนในยุคปัจจุบันนี้ ที่ยังไม่แน่ใจลงไปว่า ตายแล้วเกิดหรือไม่ ปัญหานี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นข้อสงสัยเฉพาะเด็กนักเรียนอย่างเดียว แม้บิดามารดาหรือผู้ใหญ่ที่เป็นประชาชนส่วนใหญ่ ที่ยังไม่ได้รับการศึกษาอบรมทางศาสนาอย่างดีแล้ว ทุกคนมีความสงสัยเช่นนี้ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นในการที่จะโน้มน้าวจิตใจของเยาวชน ให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดีงามของพระพุทธศาสนา เราจะต้องปูพื้นฐานให้เยาวชนเหล่านี้ได้รับความเชื่อมั่นในเรื่องวัฏสงสารไว้
ในเบื้องแรก การที่ไปปาฐกถาอบรมผู้ใหญ่ก็ดี หรือเยาวชนก็ดี เมื่อเราสามารถแถลงข้อขัดข้องใจในเรื่องตายแล้วเกิดให้ขาวสะอาดแล้วปรากฏว่า การแสดงธรรมข้ออื่น ๆ ในลำดับต่อไป
พวกเขายินดีที่จะรับด้วยความศรัทธาปสาทะเต็มที่ แต่ถ้าเมื่อใดเรายังไม่สามารถหักล้างความสงสัย ในปัญหาเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว ปัญหาการประพฤติธรรมหรือการรับข้อธรรมข้ออื่น ๆ ก็ยังเป็นปัญหาในลักษณะที่ว่า “โลเล” ยังไม่รู้ว่าจะประพฤติธรรมไปทำไม
ถ้าจะอ้างว่าประพฤติธรรมไปเพราะเห็นแก่ธรรม เพื่อความเป็นคนดีเป็นคนที่ได้รับการสรรเสริญ ถ้าอย่างนั้นแล้ว คนที่ทำความชั่ว ที่ได้รับการสรรเสริญก็มีมาก อย่างสภาวิจัยแห่งชาติเขาวิจัยกัน บอกว่าปัญหาคอรัปชั่นในเมืองไทย มีมากจนแก้ไม่ตกก็เพราะว่าประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ให้ความเทิดทูน ยกย่องคนที่ทำคอรัปชั่น
ในเมื่อคน ๆ นั้นมีเกียรติ มีอำนาจ มียศฐานันดรศักดิแล้ว เราแทนที่จะหันหลังให้เขา เรากลับหันไปพินอบพิเทายกย่องสรรเสริญเขา เป็นเหตุให้คนเหล่านั้นได้ใจในการประพฤติกรรมชั่วยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก นี้เป็นปัญหาที่ทางสภาวิจัยแห่งชาติเขาวิเคราะห์กันมานานแล้วว่า
เหตุไร เมืองไทยจึงปราบปัญหาคอรัปชั่นกันไม่แตก และปราบไม่สำเร็จสักทีหนึ่ง ก็เพราะว่า ราษฎรส่วนใหญ่ยังยินดียกย่องสรรเสริญคนที่ทำกรรมอย่างนั้นอยู่ และถือว่าการทำกรรมอย่างนั้นได้โดยปกปิดหรือโดยซ่อนเร้น หรือทำกรรมชั่วชนิดที่เรียกว่า “ไม่มีใครจับเอาหลัก ฐานได้”
ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเขาประกอบกรรมชั่ว กลับยินดี เป็นวีรกรรมที่น่าภาคภูมิใจ และทำให้คนอื่นที่ยังไม่ประพฤติกรรมชั่วเลย อยากจะทำตาม เพราะมีตัวอย่างว่า คนทำชั่ว เมื่อทำแล้วก็ร่ำรวย มีคนนับถือคบค้าสมาคม ไฉนเราจะทำอย่างนั้นบ้างไม่ได้
ปัญหานี้เป็นปัญหาความเสื่อมจิตใจตั้งแต่หลังสงครามโลกเป็นต้นมา ในเมื่อเยาวชนเรามีจิตใจที่ตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้แล้ว เราจึงควรที่จะป้อนความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งให้แก่เยาวชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการฝังหัวให้เยาวชนเหล่านั้นเชื่อมั่นว่า
ถ้าตราบใดเรายังมีการประกอบกรรมอยู่ ตราบนั้น เวียนว่ายตายเกิด ชาติ ภพยังต้องมีอยู่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเราผู้สอนเองยังมีความไม่มั่นคงในปัญหานี้แล้ว ยกตัวอย่างถ้าเราบอกว่า “ปัญหานี้เราไม่ขอตอบ” หรือว่า “ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะหน้าที่สมควรจะตอบ” อย่างนี้แล้วจะปล่อยให้เด็กไปฝังความสงสัยไว้มากเข้าจนกระทั่งเลยละล้าละลัง ไม่กล้าจะรับเอาข้อธรรมอะไรไปประพฤติดี
เราต้องเข้าถึงว่า สัญชาตญาณของคนนะครับ คนเรามีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง การรำพันว่า การทำดีที่จะเร่งให้ผลดี ประสบผลในปัจจุบันเราจะชี้ตัวอย่างคนดีด้วยความซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่การ งาน แล้วก็มั่งมีศรีสุข มียศฐาบรรดาศักดิ์ด้วยความซื่อสัตย์นั้น
ปัจจุบันนี้ชี้ได้ยาก เพราะว่าผลของกรรมดีด้วยการได้รับยศถาบรรดาศักดิ์ มิใช่ผลโดยตรงของกรรมดี แต่ว่าเป็นผลที่เกิดจากความฉลาดจากกาละเทศะและจากสิ่งแวดล้อมอีกหลายอย่าง ไม่ใช่ผลของกรรมที่เผล็ดผลได้ทันใจ เด็กที่ต้องการจะเห็นผลเหล่านี้ เราจึงยากที่จะชี้บุคคลเป็นตัวอย่าง เราจึงมีหนทางเดียว ที่จะสร้างความหวังให้ไว้กับเขา ถ้าแม้นความดีที่เราเล็งผลเลิศในทำนองต่าง ๆ
ดังพรรณนามา ซึ่งความจริงไม่ใช่ผลของความดีโดยตรง แต่เป็นผลโดยอ้อม เราต้องชี้แจงให้เขาเข้าใจชั้นหนึ่งก่อนว่า เป็นผลโดยอ้อมมิใช่ผลโดยตรง ส่วนผลโดยตรง ตัวอย่างเช่น นักเรียนที่ขยันเรียนถึงแม้การขยันของนักเรียน จะไม่เป็นเหตุให้นักเรียนคนนั้นปรากฏเป็นผลออกมา เป็นผู้ที่ว่าเพื่อนฝูงรักใคร่ หรือทำให้สามารถเป็นนักกีฬามีชื่อเสียงของโรงเรียน นำเกียรติยศมาสู่โรงเรียนก็จริง
แต่ว่า ความฉลาดนั้น เป็นผลที่สวนขึ้นทันควันกับความขยันหมั่นเพียรของนักเรียนคนนั้น คือนักเรียนที่ขยันหมั่นเพียรไม่จำเป็นจะต้องกลายเป็น “ฮีโร่” ในชั้นก็ได้ อาจกลายเป็นคนที่เพื่อนฝูงตั้งข้อรังเกียจ เพราะนักเรียนที่เป็นฮีโร่ บางทีก็อาจแฝงไว้ซึ่งความเป็นนักเลงกลาย ๆ หรือ มิเช่นนั้น ก็เป็นคนที่เรียกว่า มีน้ำใจเผื่อแผ่ โอบอ้อม มีทรัพย์สินเท่าไรเลี้ยงเพื่อนไม่อั้น
คนประเภทนี้ บางทีจะกลายเป็นฮีโร่ประจำชั้น อย่างนี้เราก็จะชี้แจงให้เด็กเข้าใจได้ว่า อาการที่เป็นฮีโร่ เปรียบเหมือนยศฐาบรรดาศักดิ์ของคนที่ทำความดีแล้วก็อยากจะให้มีความดี อันนั้นไม่ใช่ผลอันเกิดแต่กรรมดีอย่างเดียว ยังต้องมีอุปกรณ์สิ่งอื่นมาช่วยส่งเสริม เช่นความเป็นผู้มีน้ำใจโอบอ้อมอารี รักเพื่อนฝูง
แต่อาการที่เราขยันหมั่นเพียรนี้ เปรียบเหมือนเราทำความดี เมื่อขยันหมั่นเพียรมาก ความฉลาดก็มีมากตามส่วน ความฉลาดมีขึ้นทุกขณะที่ความขยันหมั่นเพียรของเรา ได้ลงทุนไปทุก ๆ ขณะเหมือนกับเป็นผลตอบแทนขึ้นทันควันเหมือนกัน ไม่ต้องเล็งรอเอาอย่างอื่นมาให้เป็นผล อธิบายให้เด็กเข้าใจง่าย ๆ อย่างนี้
ในส่วนการที่จะคิดว่า จะให้มีอย่างโน้นอย่างนี้ในทางวัตถุ เราก็สร้างความหวังให้แก่เด็ก อย่างเช่นว่า ทำกรรมชั่ว แม้เราทำอย่างแนบเนียนชนิดที่กฎหมายตามเขาไม่ทัน แต่กรรมชั่วนั้นก็จะต้องให้ผลในภพต่อ ๆ ไป การอ้างภพต่อ ๆ ไปนี่ ท่านอย่าได้กลัวว่าเด็กสมัยใหม่จะคัดค้าน ไม่จริงหรอกครับ
เราวิเคราะห์จากความรู้สึกของพวกชาวตะวันตกที่นับถือศาสนาแบบมีพระเจ้า เราก็เข้าใจ ทั้ง ๆ ที่เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ ในเวลาเขาเข้าห้องแลบ เขาไม่เชื่อพระเจ้าตามหลักทฤษฎี แต่ในเวลาวันอาทิตย์เขาไปโบสถ์ เข้าทำหน้าที่รักษาศีลล้างบาป อ้อนวอนพระเจ้า เพราะฉะนั้นจิตวิทยาอย่างนี้น่ะ เราเอามาใช้ได้ในการเผยแผ่ศาสนาของเรา อย่าไปเกรงว่า ยุคนี้เด็กทันสมัยแล้ว
เราไปพูดเรื่องเทวดา นรก สวรรค์ที่ไหนเด็กจะเชื่อ เขาจะคัดค้านเราละซิ ไม่ต้องกลัว พูดไปเถอะครับ มนุษย์เรามีใจโน้มเอียงในทางที่จะเชื่อสิ่งลึกลับอยู่แล้ว มิหนำซ้ำ พระพุทธศาสนาเราก็มีเหตุผลที่จะวิจัยให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้ มิใช่ของลี้ลับ
แต่เป็นของมีจริงตามธรรมชาติ อย่างนี้ยิ่งจะย้ำศรัทธาปสาทะของเยาวชนให้มั่นคงขึ้น ในเรื่องหลักของการเวียนว่ายตายเกิด เมื่อเขามีความมั่นคงเชื่อเรื่องตายแล้วต้องเกิด ก็เกิดความกลัว กลัวที่จะทำความชั่ว ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง แล้วก็มีกำลังใจที่จะทำกรรมดี เพราะแม้จะเร่งผลกรรมดีไม่ทัน ใจก็ยังหวังได้ว่าในอนาคตกาล เขาจะต้องได้รับผลดีอันนั้น เป็นสิ่งตอบแทนในภพเบื้องหน้า
มนุษย์เราอยู่ด้วยความหวัง ตราบใดที่ยังมีความหวังอยู่ ชีวิตก็ยังมีความหวังอยู่ ถ้าหากว่าไม่มีความหวังเสียเลย ก็มีคน ๒ ประเภท เท่านั้นเอง คือคนสิ้นหวัง กับคนไม่มีหวัง คนไม่มีหวัง คือ พระอรหันต์ครับ พระอรหันต์นั้นไม่มีหวังแล้ว เพราะไม่หวังอะไรอีกแล้ว
แต่คนที่สิ้นหวังหรือพลาดหวังน่ะคือปุถุชน คนที่สิ้นหวังไม่ใช่คนที่ไม่มีหวัง สิ้นหวังอย่างหนึ่ง แต่ไม่มีหวังอีกอย่างหนึ่ง คนไม่มีหวังคือพระอรหันต์ แต่คนที่สิ้นหวังคือปุถุชน เพราะฉะนั้น คนเรานี่มีชีวิตอยู่ด้วยความหวังเป็นเครื่องปลอบประโลมใจ ถ้าหากว่า เราบ่งเน้นรากฐานทางศีลธรรมโดยปูพื้นฐานของเด็กให้ฝังหัวในเรื่องเวียนว่าย ตายเกิด เช่นนี้จะได้ผลในทางยกฐานะระดับจิตใจของเด็กให้สูงมาก
อันธพาลบางคนหรือเด็กที่มีสันดานที่จะเป็นอันธพาลบางคน เราจะพร่ำชี้แจงเหตุผลต่าง ๆ เขาไม่ฟัง แต่จะต้องใช้วิธีขู่ให้กลัว คือ คนเรามีความรักตัว กลัวว่า ถ้าเราทำอย่างนั้นไปแล้วตำรวจเขาจะจับไม่ได้ บิดามารดาจับไม่ได้ แต่อย่างน้อยยมบาลท่านจับเราได้ เราจะต้องลำบาก ยมบาลจะต้องลงโทษ อย่างนี้ได้ผล เด็กกลัว เหมือนกับเด็กที่กลัวพระเจ้าตามโรงเรียนฝรั่งเขาอย่างนั้นแหละ เด็กที่เหลือขอ จริง ๆ แล้ว
เขาเอาพระเจ้ามาขู่ให้กลัว ไม่กลัวพ่อแม่ ไม่กลัวกฎหมาย แต่กลัวพระเจ้า ที่กลัวพระเจ้า ก็เพราะ คนเรามีสัญชาตญาณรักตัว นึกว่าตัวเราชาตินี้รอดหูรอดตากฎหมาย แต่ชาติหน้าจะไม่รอดสายตาพระเจ้าไปได้ พระเจ้านั้นท่านอยู่ทุกหัวระแทง ที่จะเล่นงานเอาได้ ทุกที่ทุกมุมเมือง ความกลัวนี่แหละ ที่ทำให้จิตใจไม่กล้าประพฤติความชั่วจนเหลือเกิน คือยังช่วยให้เป็นคนที่สำนึกตนได้อยู่บ้าง ไม่ถึงกับจะต้องเหลือขอ จนกระทั่งนึกไม่ได้เสียเลย
อันนี้เป็นประสบการณ์ ที่ผมได้รับจากโรงเรียนที่ผมไปอบรมศีลธรรมมา ทุกเเห่งถ้าหากว่าผมไปแถลงแก้ข้อขัดใจเรื่องชาตินี้ชาติหน้าเสียแล้ว นักเรียนพอใจทั้งนั้น และเราวิจัยผล คือถามประเมินผลจากการที่เราไปอบรมในครั้งนี้ ครั้งต่อไปถามนักเรียนอีกว่า นักเรียนทั้งหลายบัดนี้มีความสงสัยเรื่องชาติหน้า เรื่องเวียนว่ายตายเกิดแล้วหรือยัง นักเรียนตอบว่า ไม่สงสัย เมื่อไม่สงสัยแล้ว
นักเรียนยังเห็นว่า การประพฤติความชั่ว เป็นของควรทำหรือไม่ นักเรียนตอบทุกคนว่า การประพฤติความชั่วเป็นสิ่งไม่ควรทำ เพราะกลัวตกนรก ตอบกันตรง ๆ ว่า กลัวตกนรก นี่ได้ผลครับ ทำมาทุกโรงเรียนแล้ว กลัวตกนรกทั้งนั้นแหละ เพราะเชื่อว่า นรกสวรรค์นั้นมีแล้ว จึงกลัวตกนรกกันทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น กระผมก็อยากนิมนต์ท่านทั้งหลายที่ทำหน้าที่เป็นพระธรรมวิทยากร (๑ )อยู่ นำเรื่องการปูพื้นศีลธรรม เบื้องแรกให้เพาะศรัทธาในเรื่องบุญบาป เวียนว่ายตายเกิดเสียก่อน แต่ว่าการเพาะศรัทธาในเรื่องนี้นั้น เราต้องยืดหยุ่นครับ คือว่าตอบเป็นสองแง่สองมุม อย่าไปตอบอย่างชนิดว่ายืนกระต่ายขาเดียว คือตอบว่า ผลกรรมชนิดที่ให้ผลทันด่วน ยกความขยันหมั่นเพียรแล้ว ก็ได้รับความฉลาดทุกครั้งที่เราขยัน นี่เป็นผลกรรมดีโดยตรงอย่างหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่งอาจตามมาเป็นผลพลอยได้ มิใช่ผลเกิดโดยตรงของกรรมดี เช่นว่า ความเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนฝูง และครูอาจารย์ตลอดจนถึงเพื่อนฝูงยกย่องให้เป็นหัวหน้าชั้น ให้เป็นฮีโร่ประจำโรงเรียนต่าง ๆ เหล่านี้ มิใช่เป็นผลโดยตรง แต่เป็นผลพลอยได้ การที่จะได้ผลพลอยได้นั้น ต้องประกอบสิ่งที่เป็นอุปกรณ์อย่างอื่นไปด้วย นักเรียนที่ขยันหมั่นเพียร
แต่มีน้ำใจคับแคบ มักสอบไล่ได้ที่ ๑ ทุกปี แต่เพื่อนเกลียดน้ำหน้า เพราะใจแคบเหลือเกิน ไม่เผื่อแผ่เพื่อนฝูงบ้าง เพื่อนฝูงจะมาขอว่าโจทย์เลขข้อนี้ให้ช่วยอธิบาย ก็ไม่ยอมอธิบาย หวงความรู้ไว้อย่างนี้เรียกว่าบกพร่องในทางที่จะเอาผลพลอยได้จากกรรมดี นี่เราจะต้องทำให้สมบูรณ์ทุกแบบ ไม่ว่าจะในแง่เล็งผลพลอยได้ หรือในแง่ที่ว่าจะให้ผลมันสวนขึ้นทันควัน อันเป็นวิบากของกรรมนั้น ๆ ก็ตาม อันนี้เป็นการปูพื้นฐานศีลธรรมเบื้องแรกแก่เด็กให้ฝังหัวในเรื่องนี้ก่อน
อันดับ ที่สอง ก็คือ ยกพุทธคุณเป็นสำคัญขึ้นมา เมื่อกล่าวถึงพุทธประวัติ เด็กส่วนมากในปัจจุบันนี้ก็ขึ้นใจ เพราะได้ผ่านหลักสูตรพุทธประวัติมาตั้งแต่ชั้นประถมแล้วพอที่จะรู้เรื่อง บ้างว่า พระพุทธองค์เป็นใครมาจากไหน แต่ถ้าเราไปสอนตามเนื้อหาในหนังสือ มันก็ไม่สนุก เด็กผ่านมาแล้ว ก็ท่องเป็นนกแก้วทีเดียว เป็นโอรสของพระนางสิริมหามายา เกิด พ.ศ. นั้น ปีนั้น ๆ ก่อนพุทธกาลแค่นั้น ๆ ถ้าอย่างนั้น พูดได้ทีเดียว
อย่างนี้เด็กไม่รู้จักความเพลิดเพลิน ทางที่จะสร้างความเพลิดเพลินในการศึกษาพุทธประวัตินั้น ผมใคร่จะกราบเรียนว่า ให้สอนแบบศึกษาพุทธประวัติแบบเบสิค
บางทีเราก็อาจจะมีรูปติดไม้ติดมือไปบ้าง ยกตัวอย่างเช่น รูปแผนที่ของอินเดีย หรือไม่มีเราก็อาจเขียนรูปแผนที่อินเดียหยาบ ๆ บนกระดานดำ แสดงจุดที่ตั้งของเมืองกบิลพัสดุ์ สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน อันที่สำคัญในทางพุทธศาสนา แสดงไว้หยาบ ๆ ชั้นหนึ่งก่อน แล้วก็เล่าเรื่องสนุก ๆ ให้ฟังประกอบ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 06, 2012, 07:01:35 pm โดย nathaponson »

บันทึกการเข้า

ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ