[พระประธานในพระอุโบสถ วัดพระพุทธบาทสี่รอย]
สถานที่ประดิษฐานของพระพุทธบาทสี่รอยดั้งเดิม ที่มีผู้รู้บางท่านสันนิษฐานไว้
มีผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่า ความจริงแล้ว หินก้อนนี้อยู่ที่ป่าหิมพานต์ แต่นักปราชญ์บางท่านกล่าวว่า หินนั้นได้ตั้งอยู่ ณ ที่นี้ ส่วนผู้ที่จะกล่าวแก้ ก็ควรที่จะบอกว่า ป่าก็ดี เขาก็ดีที่มีเมฆหมอกปกคลุมอยู่ไม่ขาดทั้งกลางวันกลางคืนที่แห่งนั้น จึงได้ชื่อว่า ป่าหิมพานต์ ธรรมชาติของเปรตทั้งหลายไม่เคยมีตัวตนในเมืองมนุษย์ แต่ธรรมชาติของเปรตทั้งหลาย ย่อมเกิดเป็นตัวเป็นตนในป่าหิมพานต์เท่านั้น
หากแต่พระอริยสาวกที่มีอิทธิปาฏิหาริย์ ได้อัญเชิญมาด้วยกำลังฤทธิ์ เพื่อที่จักให้เป็นที่กราบไหว้ และสักการะบูชาแก่ชาว “ตามิละ” (ลัวะ) พวกชาวเขา ลัวะ และคนยาง หากมารักษาและสักการะรอยพระพุทธบาทแล้ว
ฝนฟ้าก็จะตกต้องตามฤดูกาลเป็นอันดี ด้วยพุทธานุภาพ และแม้ในกาลอนาคตพระศรีอริยเมตไตรยพุทธเจ้า ก็จักเสด็จมาประทับรอยพระพุทธบาท ไว้ที่หินก้อนนี้อีกเป็นรอยที่ ๕
จนล่วงไปอีกราว ๒๐๐๐ ปี หินก้อนนี้ก็จะแตกสลายลง บังเกิดเป็นมนุษย์ขึ้น ซึ่งมนุษย์คนนี้จะได้บวชในพระพุทธศาสนา สำเร็จมรรคผลนิพพานในสมัยพระศาสนา แห่งพระศรีอริยเมตไตรยพระพุทธเจ้านั่นแลฯ 
[พระพุทธรูปในพระอุโบสถ วัดพระพุทธบาทสี่รอย]
ยังมีพระผู้รอบรู้พระไตรปิฎกองค์หนึ่ง ถามว่า
“พระบาท ๔ รอยนี้จะเจริญรุ่งเรืองเมื่อใด”
ผู้ที่จะกล่าวแก้ปัญหาควรกล่าวว่า
“ดูกรท่านทั้งหลาย อันบาลีแห่งพระพุทธเจ้า กล่าวไว้ว่า ปฐมเบื้องต้น มัชฌิมะเบื้องกลาง ปัจฉิมะเบื้องปลาย เหตุบาลีว่า อาทิ กัลยาณัง งามในเบื้องต้น มัชเฌกัลยาณัง งามในท่ามกลาง ปริโยสานกัลยาณัง งามในที่สุดงามในที่แล้ว (ที่สุด) แห่งศาสนาพระพุทธเจ้า พระพุทธบาท ๔ รอย จะเจริญรุ่งเรืองงามในท่ามกลางศาสนาจริงแลฯ”
ดังนั้น ก็นับว่า พระพุทธบาทสี่รอยนี้ เป็นปูชนียสถานที่สำคัญเป็นที่สักการบูชามาช้านาน ถ้าหากว่าผู้ใดมีจิตศรัทธาที่จะขึ้นไปกราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย ก็ควรมีจิตศรัทธาเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อไปถึงแล้วก็ควรที่จะสำรวม กาย วาจา ใจ ให้เป็นปกติ ก็ชื่อว่า รักษาศีล ก็ทำให้เกิดสมาธิ มีจิตใจที่ตั้งมั่น ทำให้เกิดปัญญา และจักได้ชื่อว่าเจริญตามรอยพระพุทธบาทของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง[นายนิรยบาล-ผู้เฝ้าปากทางสู่นรก : อยู่บริเวณรอยหินแยก (จากฟ้าผ่า)ด้านข้างพระวิหารครอบรอยพระพุทธบาท]
การที่มีคนศรัทธาเดินทางขึ้นไปกราบรอยพระพุทธบาท ก็เหมือนกับว่ามีดวงจิตดวงใจอยู่ในสมาธิภาวนามีพุทธานุสติเกิดขึ้นในจิตใจ และประกอบไปด้วย ความศรัทธา และความเพียร ขันติ ความอดทน การที่ขึ้นไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาท ถนนหนทางไม่สู้จะสะดวกเท่าไร เป็นทางขึ้นเขาทางเดินแคบ ขึ้นได้สะดวกก็ช่วงฤดูแล้ง ช่วงฤดูฝนก็ลำบาก จึงเป็นการวัดถึงจิตใจของพุทธศาสนิกชนว่า จะมีคนที่ศรัทธาและวิริยะที่จะขึ้นไปกราบไหว้ และสักการะเพียงใด ถ้าหากว่าใครได้ไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทแล้ว ก็นับว่าเป็นสิริมงคล และจะได้รับผลานิสงส์เป็นอย่างมาก
ดังนั้นขอให้พุทธบริษัททั้งหลาย ที่ได้มากราบนมัสการพระพุทธบาทสี่รอย หรือผู้ที่อ่านหนังสือเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา ของพระพุทธบาทสี่รอยแล้ว ก็ใคร่จะกล่าวกับท่านทั้งหลายว่า การที่พระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์เสด็จมาประทับรอยพระบาทในที่นี้ เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ทั้งหลายให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งหลาย เพื่อเป็นหนทางไปสู่พระนิพพาน[“นาคเกี้ยว” : บริเวณด้านข้างของพระอุโบสถใหม่ ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการฝังลูกนิมิต]
ดังนั้นการที่เราได้กราบนมัสการรอยพระพุทธบาท ด้วยเครื่องสักการะบูชา มีดอกไม้ ธูปเทียน ก็ยังไม่ได้เจริญตามรอยพระบาทของพระพุทธองค์ เพราะพระพุทธองค์ทรงมุ่งหวังให้เราทั้งหลาย เจริญรอยตามพระพุทธองค์ด้วยการให้ทาน ถือศีล เจริญสมาธิภาวนา ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนหนึ่งที่พระพุทธองค์ทรงโปรดให้พ้นจากกองทุกข์ทั้งหลาย โดยเฉพาะการเจริญสมาธินั้น พระพุทธองค์เคยตรัสว่ามีอานิสงส์กว่าการให้ทาน ซึ่งเป็นหนทางสู่มรรคผลนิพพานโดยแท้จริง
วาระสุดท้ายนี้ ท่านผู้ใดได้อ่านประวัติความเป็นมาของพระพุทธบาทสี่รอยนี้แล้ว กรุณาใช้ปัญญาพิจารณาให้ถ่องแท้ และให้ถึงศรัทธาในดวงจิตดวงใจ ให้ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์แก่ท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลายที่เดินทางขึ้นมากราบพระพุทธบาทสี่รอย อาตมาขอให้ท่านทั้งหลายที่ได้เดินทางขึ้นมากราบพระพุทธบาทสี่รอยนี้ หรือได้อ่านประวัติพระพุทธบาทสี่รอย จงประสบแต่ความสุขความเจริญ ก้าวหน้าใน ทาน ศีล ภาวนา มีปัญญารู้แจ้งใน อริยสัจสี่ พ้นจากกิเลสกองทุกข์ทั้งหลาย จงมีแด่ทุกท่านด้วยเทอญ....สาธุ
เจริญกุศลด้วยความนับถือ ธรรมะ พร และ เมตตา
พระครูพุทธบทเจติยารักษ์ (พระครูบาพรชัย ปิยะวัณโณ)
เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทสี่รอย
พระครูพุทธบทเจติยารักษ์ (พระครูบาพรชัย ปิยะวัณโณ)
ที่มา : “พระพุทธบาทสี่รอย” : วัดพระพุทธบาทสี่รอย จ.เชียงใหม่, จัดพิมพ์ขึ้นเผยแพร่เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลในวโรกาสมหามิ่งมงคลพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเจริญพระชนมายุ ๘๔ พรรษา, จัดพิมพ์โดย กองทุนดอกบัวกลางน้ำ, พิมพ์ครั้งที่ ๓๔, พ.ศ. ๒๕๕๐, หน้า ๑-๑๓
กิตติกรรมประกาศ : ขอขอบพระคุณ และร่วมอนุโมทนาบุญเป็นอย่างยิ่งกับ “คุณลองภูมิ” ช่างภาพกิตติมศักดิ์ และกัลยาณมิตรตลอดกาลของข้าพเจ้า ที่มอบหนังสือเล่มนี้เป็นธรรมบรรณาการ และเอื้อเฟื้อภาพ “วัดพระพุทธบาทสี่รอย” เพื่อเป็นธรรมวิทยาทาน แก่เพื่อนๆ กัลยาณมิตร และญาติธรรมในลานธรรมจักร เนื่องในโอกาสที่ได้ไปเจริญภาวนา ณ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ เมื่อปลายเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ผ่านมา สาธุ
ตำนานพระพุทธบาทสี่รอย (ฉบับล้านนา)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19820 http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=14761 โพสต์โดย คุณกุหลาบสีชา